จบปัญหานอนกรน ! Smart Nora อุปกรณ์ช่วยแก้ปัญหานอนกรน
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเจอปัญหานอนกรน หรือเจอคนข้าง ๆ กรนเสียงดังจนทำให้ไม่ได้นอน วันนี้เลยจะพาไปดูอุปกรณ์ป้องกันการนอนกรนที่แค่สอดไว้ใต้หมอน ก็ช่วยลดอาการกรนได้ นอนหลับสบายกว่าเดิม
ใครที่กำลังประสบปัญหานอนกรนเสียงดังจนขาดความมั่นใจ หรือต้องทนกับเสียงกรนสนั่นของคนข้างกายจนทำให้นอนหลับได้ยาก อาจจะถูกใจกับอุปกรณ์ที่มีชื่อว่า สมาร์ต นอรา (Smart Nora) อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาการนอนกรน แบบไม่ต้องสวมใส่กับร่างกายให้ยุ่งยาก เพียงสอดอุปกรณ์ไว้ใต้หมอน ก็ทำให้เรานอนหลับสบายขึ้น
ตัวช่วยจับเสียงกรนอัตโนมัติ
โดยสมาร์ต นอรา เป็นนวัตกรรมช่วยตรวจจับเสียงกรนและปรับท่าทางการนอนโดยอัตโนมัติ ในหนึ่งชุด ประกอบด้วยอุปกรณ์หลักสามชิ้น ได้แก่ ชิ้นแรก เป็นตัวเซนเซอร์ตรวจจับการนอนกรน ที่สามารถแปะติดกับหัวเตียงหรือวางไว้ใกล้ที่นอนได้ เพื่อให้มันคอยติดตามการกรนได้ตลอดเวลา
ชิ้นที่สองคือถุงลม ที่สามารถเอาสอดไว้ใต้หมอนของเราได้ โดยมันจะพองตัวขึ้น เพื่อช่วยปรับระดับของหมอนหนุนแบบอัตโนมัติ กระตุ้นให้เราขยับท่าทางการหายใจ โดยยังดีไซน์ให้รองรับหมอนหลายรูปแบบ และชิ้นที่สามคือตัวปั๊มลม ที่ทำงานร่วมกับถุงลมใต้หมอน ลักษณะเป็นปั๊มในกล่องขนาดเล็ก มีจุดเด่นคือไม่ส่งเสียงรบกวนการนอนแต่อย่างใด ทำให้สามารถวางไว้ใต้เตียงเพื่อให้มันทำงานตลอดทั้งคืน
ถึงจะช่วยจับเสียงกรนได้ แต่ก็ไม่ใช่อุปกรณ์การแพทย์
สำหรับการใช้งาน เริ่มต้นจากการเปิดเซนเซอร์ตรวจจับการนอนกรน สอดถุงลมไว้ใต้หมอน เชื่อมกับปั๊มลมในกล่อง เปิดสวิตช์ต่าง ๆ จากนั้นก็นอนหลับตามปกติ เพราะโดยปกติแล้วการนอนกรนส่วนใหญ่ เกิดจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ ช่องลมถูกปิดกั้นจนเล็กลง ทำให้เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น ดังนั้นเมื่อไหร่ที่เซนเซอร์ตรวจจับเสียงกรนได้ มันก็จะส่งสัญญาณไปที่ถุงลมใต้หมอน เพื่อพองตัวขึ้นให้เราขยับท่าทาง เปิดช่องลมให้กว้าง ทำให้ลดเสียงกรนได้นั่นเอง
สำหรับผลงานนี้เป็นการพัฒนาของสตาร์ตอัปในชื่อเดียวกัน คือ สมาร์ตนอรา โดยเคาะราคาจำหน่ายอยู่ที่ชุดละ 399 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 14,000 บาท อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์นี้ก็เป็นเพียงตัวช่วยปรับท่าทางการนอนเท่านั้น ไม่ใช่อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่สามารถรักษาอาการกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือใช้เป็นวิธีแก้ปัญหาการกรนถาวรแต่อย่างใด ดังนั้นหากเรามีอาการกรนที่ต่อเนื่อง รุนแรง ก็ควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาให้ดีขึ้น
ที่มาข้อมูล nytimes, sleepopolis, smartnora
ที่มารูปภาพ smartnora
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67