TNN คืบหน้าเครื่องบินไร้มลพิษจาก Airbus ด้วยถังเก็บไฮโดรเจนล้ำยุคแบบใหม่

TNN

Tech

คืบหน้าเครื่องบินไร้มลพิษจาก Airbus ด้วยถังเก็บไฮโดรเจนล้ำยุคแบบใหม่

คืบหน้าเครื่องบินไร้มลพิษจาก Airbus ด้วยถังเก็บไฮโดรเจนล้ำยุคแบบใหม่

Airbus อัพเดทความคืบหน้าด้วยการสร้างถังเชื้อเพลิงพิเศษแบบใหม่ ใช้พลังงานจากไฮโดรเจนในการขับเคลื่อนเครื่องแรกของโลก

หลังจากแอร์บัสประกาศสร้างเครื่องบินไร้มลพิษ หรือ ซีโรอี (ZEROe) ที่ใช้พลังงานจากไฮโดรเจนในการขับเคลื่อนเครื่องแรกของโลกตั้งแต่ 3 ปีก่อน ล่าสุด  แอร์บัส (Airbus) บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินจากฝรั่งเศส เผยว่า พวกเขากำลังเร่งออกแบบถังเก็บไฮโดรเจนเหลวแบบใหม่ ที่มีชื่อเล่นว่า โคลด์ ฮาร์ต (Cold Heart) เตรียมนำมาใช้เป็นถังเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไร้มลพิษ


โดยแอร์บัสเผยว่า เหตุผลที่ต้องสร้างนวัตกรรมถังเก็บไฮโดรเจนแบบพิเศษนี้ออกมา เนื่องจากในการใช้งานจริง ไฮโดรเจนเหล่านี้จะต้องถูกเก็บไว้ที่อุณหภูมิ -253 องศาเซลเซียสอย่างสม่ำเสมอตลอดเที่ยวบิน และการสร้างถังที่รักษาอุณหภูมิระดับติดลบ 253 องศา นั้นมีระบบใช้งานแตกต่างจากถังเก็บน้ำมันแบบดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งอุณหภูมินอกเครื่องบินยังแตกต่างกันอย่างมากในระหว่างการบินขึ้นลง การสร้างถังเก็บไฮโดรเจนที่เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง


คืบหน้าเครื่องบินไร้มลพิษจาก Airbus ด้วยถังเก็บไฮโดรเจนล้ำยุคแบบใหม่

ที่มาของรูปภาพ Airbus


ทีมพัฒนายังเผยว่า โดยหลัก ๆ แล้ว เครื่องยนต์ไฮโดรเจนมีการใช้งานใน 3 รูปแบบคือ 1. การเผาไหม้ไฮโดรเจนผ่านเครื่องยนต์ที่ได้รับการดัดแปลง หรือ 2. การใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้า อีกทางเลือกคือการผสมผสานเทคโนโลยีทั้งสองเข้าด้วยกัน 


สำหรับการผลิตตัวถังไฮโดรเจนดังกล่าว แอร์บัสได้ก่อตั้งศูนย์พัฒนาการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ในเมืองน็องต์ (Nantes) ประเทศฝรั่งเศส และเมืองเบรเมิน (Bremen) ประเทศเยอรมนี ซึ่งทั้ง 2 ประเทศแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ โดยตัวถังหลักจะถูกผลิตขึ้นในเมืองน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส ส่วนตัวกล่องเย็น หรือ Coldbox ที่ใช้ในการแปรสภาพจากไฮโดรเจนเหลวเป็นแก๊ส นั้นจะถูกผลิตในเมืองเบรเมิน


สำหรับเป้าหมายต่อไปของทีมพัฒนาคือการติดตั้งถังไฮโดรเจน Cold Heart ในเครื่องบิน แอร์บัส เอสามแปดศูนย์ (A380) เครื่องต้นแบบภายในปี 2027-2029 นี้ ก่อนจะเริ่มวางจำหน่ายเครื่องบินไร้มลพิษ ซีโรอี ตั้งแต่ปี 2035 เป็นต้นไป


ทั้งนี้ แอร์บัสตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้ถังเก็บไฮโดรเจนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายคือปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ เพื่อส่งขายกับสายการบินทั่วโลกที่ต้องการลดมลพิษในอุตสาหกรรมการบินต่อไป


ที่มาของข้อมูล interestingengineering.com

ที่มาของรูปภาพ Airbus


ข่าวแนะนำ