ส่องเทคโนโลยีสุดเจ๋ง ! สร้างสรรค์งานศิลปะมูลค่านับหมื่นล้านบาท
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัจจุบัน ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในแวดวงศิลปะ หรือภาพวาดดิจิทัลที่สร้างมูลค่าได้นับหมื่นล้านบาท
ภาพรวมเทคโนโลยีในวงการศิลปะ
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัจจุบัน ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในแวดวงศิลปะ ทั้งปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งสามารถวาดภาพได้ จากคำเพียงไม่กี่คำ หรือแม้แต่ภาพวาดดิจิทัลที่สร้างมูลค่าได้นับหมื่นล้านบาท โดยเห็นได้จาก การซื้อขายภาพวาดที่อยู่ในรูปแบบของสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ NFT (Non-Fungible Token) ในชุดภาพ “ลิงหน้าเบื่อ” หรือ Bored Ape ที่โด่งดังในวงการศิลปะดิจิทัล ที่มีมูลค่าการซื้อขายรวม สูงถึง 31,400 ล้านบาท ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา
นอกจากการนำภาพวาดไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัลแล้ว ก็มีตัวอย่างการนำเทคโนโลยีมาใช้งานในรูปแบบอื่นด้วยเช่นกัน เช่น ดัล-อี ทู (DALL-E2) โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างภาพที่สมจริง ด้วยการเขียนคำบรรยาย พัฒนาโดย โอเพ่น เอไอ (Open AI) บริษัทผู้วิจัยและพัฒนาระบบเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ชื่อดัง ความสามารถของ DALL-E2 มีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การสร้างสรรค์ภาพจากคำบรรยาย เช่น เมื่อใส่คำอธิบายภาพที่ต้องการไปว่า “หมีโคอาล่า กำลังกระโดดชู๊ตบาส” AI จะสร้างภาพจากคำอธฺิบายของเราขึ้นมา ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาพถ่ายจริงเป็นอย่างมาก
หรืออีกตัวอย่างก็คือ มิดเจอร์นีย์ (Midjourney) ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างสรรค์ภาพเหนือจินตนาการได้ ซึ่งมีหลักการทำงานคล้ายกันกับ DALL-E2 ที่ใช้คีย์เวิร์ดหรือคำสำคัญในการสร้างภาพ แต่จะแตกต่างกันที่ลายเส้นและสไตล์ภาพ โดย Midjourney ยังสามารถระบุความชัดเจน ขนาดรูป และสร้างภาพสามมิติได้ด้วย ความสามารถอันโดดเด่นนี้ทำให้นิตยสารดังจากเกาะอังกฤษอย่าง เดอะ อีโคโนมิสต์ (The Economist) ฉบับมิถุนายน ปี 2022 นั้นใช้ มิดเจอร์นีย์ (Midjourney) มาสร้างภาพปกนิตยสาร สร้างความฮือฮาในวงการศิลปะไปทั่วทั้งโลก
AI จะเข้ามาแย่งการทำงานศิลปะของมนุษย์หรือไม่
คุณชวลิต แก้วมณี หัวหน้าฝ่ายแอนิเมชันตัวละคร (Head of Character Animation) ของเดอะมั้งค์ สตูดิโอ (The Monk Studio) ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแอนิเมชัน ซึ่งเป็นสายงานที่อาศัยทักษะการวาดภาพ ให้ความเห็นว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่ได้เข้ามาแย่งงานของคน แต่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยในการออกแบบภาพวาดต่าง ๆ ให้สมบูรณ์มากขึ้น
โดยคุณชวลิตให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การสร้างภาพ (Visualization) ตัวละครขึ้นมา โดยปกติจะอาศัยการทำงานของมนุษย์ โดยศิลปินนักออกแบบแนวคิด (Concept Artist) เพื่อร่างบุคลิกและโครงสร้างเชิงภาพของตัวละครขึ้นมา ซึ่งการมาของโปรแกรมที่อาศัยการทำงานของปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้ง่ายและสามารถนำไปต่อยอดได้ง่ายขึ้น
รู้จักเทคโนโลยีการทำ Animation
คุณเอมสินธุ รามสูต ผู้จัดการฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Manager) ของเดอะมั้งค์ สตูดิโอ (The Monk Studio) มองว่าแอนิเมชัน (Animation) คือ การเล่าเรื่องผ่านภาพเคลื่อนไหว โดยใช้ศิลปะและเทคโนโลยีมาผสมผสานกันออกมาเป็นเรื่องเล่า ซึ่งทำให้ขอบเขตของจินตนาการออกไปไกลจนเสมือนว่าไม่ที่สิ้นสุด
โดยปกติแล้วแอนิเมชันจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ แอนิเมชันแบบ 2 มิติ (2D) ซึ่งภาพที่ออกมาจะเห็นการเคลื่อนไหวได้ในแนวกว้างและยาว เช่น ภาพยนตร์ขวัญใจเด็ก เรื่อง ไลออน คิง (Lion King) กับแอนิเมชันแบบ 3 มิติ (3D) ซึ่งจะมีความเหมือนจริงมากกว่า เพราะคนดูจะสามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวได้ทั้งแนวกว้างและยาว ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงมิติความลึก เช่น ภาพยนตร์ เรื่อง โฟรเซน (Frozen) ของดินนีย์ (Disney)
ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบ จะต้องมีพื้นฐานที่คล้ายคลึงกันในการขึ้นโครงร่างด้วยการวาดภาพและออกแบบลักษณะการเคลื่อนไหวของตัวละครหรือฉาก ในอดีต ขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก เปลืองทั้งทรัพยากร เช่น กระดาษหลายร้อยแผ่นที่ต้องใช้เพื่อสร้างภาพเคลื่อนไหว และเวลาที่สูญเสียไป แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ทำงานบนคอมพิวเตอร์ได้เข้ามาย่นระยะเวลาการทำงานในส่วนนี้ออกไปได้อย่างมาก
คุณชวลิต แก้วมณี ให้ข้อมูลกับ TNN Tech ว่า ในปัจจุบันการวาดภาพเหล่านี้จะเป็นวาดลงบนระบบคอมพิวเตอร์ ทดแทนการวาดในกระดาษก่อนนำมาสแกนแล้วนำไปตัดต่อแก้ไข ดังนั้น รูปวาดในระบบจะสามารถแก้ไขและแยกชั้น (Layer) ตัวละครหรือรูปวาดเพื่อจัดการได้อย่างรวดเร็ว เปิดโอกาสให้นักสร้างโครงร่างกำกับฉาก (Storyboard Artist) หรือ ผู้ร่างภาพที่จะปรากฏบนจอภาพยนตร์ ได้ทดลองการกำหนดฉากได้อย่างอิสระและรวดเร็วมากขึ้น
ขั้นตอนการทำ Animation
เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงวิธีการกว่าจะเป็นผลงานแอนิเมชัน 1 เรื่อง นั้นมีขั้นตอนเป็นอย่างไร คุณชวลิต แก้วมณี ได้ยกตัวอย่างการทำแอนิเมชัน หรือภาพเคลื่อนไหวของโซฟา ซึ่งจะต้องขึ้นโครงร่างจากร่างออกแบบ ก่อนที่จะลงสี และกำหนดพื้นผิว (Texture) ของโซฟาว่าเป็นผ้า หรือเป็นหนัง ก่อนที่จะใส่แสงเงาและนำเข้าไปสู่ส่วนอื่นของฉาก
นอกจากนี้ การสร้างแอนิเมชันต้องทำความเข้าใจบทภาพยนตร์ เพื่อสร้างแนวคิดของตัวละครและฉาก ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการวาดภาพ ซึ่งถ้าต้องการให้แอนิเมชันออกมาเป็น 2 มิติ ก็จะเริ่มที่การวาดภาพตัวละคร ก่อนส่งต่อไปยังฝ่ายทำภาพเคลื่อนไหว แต่ถ้าหากต้องการทำเป็นแอนิเมชัน 3 มิติ ก็จะต้องนำเอาภาพไปทำบนโปรแกรมตัดต่อบนคอมพิวเตอร์ เพื่อใส่รายละเอียดมิติความลึก แสงเงา และส่วนอื่น ๆ ให้เกิดความสมจริง
ไทยจำเป็นต้องพัฒนาคนเพื่อใช้เทคโนโลยีผลิต Animation ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ลำพังเพียงแค่มีเทคโนโลยีให้ใช้ แต่ไม่มีคนที่มีทักษะเพียงพอจะสร้างสรรค์ผลงานแอนิชัน ผลลัพธ์ก็จะกลายเป็นเพียงความว่างเปล่าที่ไม่เกิดอะไรขึ้น ดังนั้น สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การพัฒนาเทคโนโลยี คือ การพัฒนาคนให้มีทักษะและฝีมือ โดยเฉพาะนักพัฒนาชิ้นงาน 3 มิติ หรือ 3D Developer เพื่อใช้เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือ ในการสร้างผลงานแอนิเมชันขึ้นมา
เดอะมั้งค์ สตูดิโอ (The Monk Studio) หนึ่งในบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านแอนิเมชันสัญชาติไทย ที่ก่อตั้งมาเกือบ 20 ปี และสามารถคว้ารางวัลระดับโลกต่าง ๆ มาแล้ว มองเห็นศักยภาพเด็กไทย และพยายามผลักดันให้เกิดการพัฒนาบุคลากรในแวดวงแอนิเมชัน ด้วยการบรรยายให้ความรู้ตามสถานศึกษาต่าง ๆ ในไทย
สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ที่ระบุว่า ในปี 2563 อุตสาหกรรมแอนิเมชันของไทย มีมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า ที่จริงแล้วแอนิเมชันไทยถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง การพัฒนาส่งเสริมบุคลากรในประเทศให้เกิดความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านนักพัฒนาชิ้นงาน 3 มิติ หรือ 3D Developer ก็จะทำให้ประเทศไทย กลายเป็นแหล่งสร้างสรรค์งานศิลปะจากเทคโนโลยี ผลักดันอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโต และมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้มากกว่าเดิม
คุณรุจิร โภคสมบูรณ์กิจ หัวหน้าผู้อำนวยการสร้าง (Head of Producer) เดอะมั้งค์ สตูดิโอ (The Monk Studio) กล่าวกับ TNN Tech ว่า “เราเชื่อว่าจริง ๆ คนทุกคน มีความสามารถอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเขามีโอกาสไหม หรือว่าเขามีเวทีให้ได้พัฒนาตรงนี้หรือเปล่า เพราะฉะนั้น การที่เราได้พัฒนาบุคคล ไม่ได้เป็นผลดีเฉพาะกับน้อง ๆ คนนั้น แต่เป็นผลดีกับวงการแอนิเมชันไทยด้วย”
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67