โปรตุเกสโชว์ทีเด็ด ! ทำระบบโซลาร์เซลล์ตามติดตำแหน่งแสงแดดตลอดวัน
สตาร์ตอัปจากโปรตุเกสนำเสนอแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบใหม่ล่าสุดที่เคลื่อนตำแหน่งตามแสงแดดเองได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า
โซลาร์เซลล์ (Solar Cell) มีประสิทธิภาพกำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 20 - 30 ต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่มีแสงแดดทั้งหมด สาเหตุสำคัญคือการเปลี่ยนตำแหน่งแสงแดดตามการหมุนรอบตัวเองของโลก จึงมีแค่บางช่วงเวลาที่แสงแดดตกกระทบกับแผ่นโซลาร์เซลล์อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ สตาร์ตอัปจากโปรตุเกสจึงได้พัฒนาระบบโซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่เคลื่อนตัวตามแสงแดดเองได้ ซึ่งให้ประสิทธิภาพสูงกว่าแบบทั่วไปด้วย
ระบบดังกล่าวชื่อว่าโพรเทฟส์ (PROTEVS) เป็นแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งแบบลอยน้ำ พัฒนาโดยบริษัท โซลาร์อิสโฟลท (SolarisFloat) จากโปรตุเกส มีกำลังการผลิตสูงสุดที่ 73 กิโลวัตต์สูงสุด (kWp) ซึ่งเทียบเท่ากับกำลังผลิต 73 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) แต่รุ่นที่จะติดตั้งจริงนั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 2 รุ่น ได้แก่ โพรเทฟส์ พลัส (PROTEVS+) และ โพรเทฟส์ ซิงเกิล 360 (PROTEVS Single360)
ทั้งสองรุ่นติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เป็นแพต่อเนื่องเป็นวงกลมเมื่อมองจากด้านบน โพรเทฟส์ พลัส (PROTEVS+) จะให้กำลังการผลิตสูงสุดตามที่แจ้งไว้คือ 73 กิโลวัตต์สูงสุด (kWp) โดยตัวแผงสามารถหมุนเอียงทำมุมกับระนาบได้ระหว่าง 0 - 45 องศา และสามารถหมุนรอบแกนกลางแพได้ ทั้งหมดเพื่อให้ติดตามแสงแดดและรับมาใช้ผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มประสิทธิภาพ มีทั้งหมด 180 ระบบ ที่ประกอบไปด้วยแผงโซลาร์เซลล์ 180 แผง และตัวขับเคลื่อนกับระบบแปลงไฟ ให้กำลังการผลิตต่อแผงสูงสุดที่ 370 วัตต์ (W) เส้นผ่านศูนย์กลาง 38 เมตร พื้นที่ทั้งหมด 1,444 ตารางเมตร
ในขณะที่ โพรเทฟส์ ซิงเกิล 360 (PROTEVS Single360) จะมีจำนวนระบบเป็น 2 เท่า ของโพรเทฟส์ พลัส (PROTEVS+) แต่แลกกับการไม่สามารถหมุนมุมของแผงโซลาร์เซลล์ได้ ทำได้เพียงหมุนแพทั้งระบบ เพื่อเพิ่มพื้นที่ติดตั้งแผง โดยให้กำลังการผลิตสูงสุดที่ 147 กิโลวัตต์สูงสุด (kWp) ที่แต่ละตัวจะใช้แผงโซลาร์เซลล์ใหญ่ขึ้นเป็น 410 วัตต์ ซึ่งทั้ง 2 ระบบ มีประสิทธิภาพอยู่ที่ร้อยละ 40 สูงกว่าแผงโซลาร์เซลล์ทั่วไปที่ทำได้เพียงร้อยละ 20 - 30 เท่านั้น
ระบบโพรเทฟส์ (PROTEVS) จะใช้ไฟฟ้าทั้งหมดอย่างน้อย 0.5 เปอร์เซ็นต์ ของกำลังการผลิตทั้งหมด เพื่อทำให้แกนหมุนทำงาน ซึ่งอาจจะมากกว่านี้ในระบบโพรเทฟส์ พลัส (PROTEVS+) อีกทั้งยังช่วยให้น้ำบริเวณที่ติดตั้งระเหยน้อยลงเป็นผลพลอยได้ด้วย โดยทางบริษัทกล่าวว่าการติดตั้งระบบช่วยให้น้ำมีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณที่ไม่มีระบบโพรเทฟส์ (PROTEVS) บดบัง ช่วยให้การระเหยของน้ำลดลงไปกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมนั่นเอง
โพรเทฟส์ พลัส (PROTEVS+) และ โพรเทฟส์ ซิงเกิล 360 (PROTEVS Single360) ยังไม่ได้มีการติดตั้งในขณะนี้ แต่ระบบโพรเทฟส์ (PROTEVS) ตัวทดลองนั้นถูกทดสอบมาตั้งแต่ปี 2020 ในทะเลสาบโอสวอร์น (Oostvoornse Lake) ประเทศเนเธอร์แลนด์
ที่มาข้อมูล Interesting Engineering, SolarisFloat
ที่มารูปภาพ SolarisFloat
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67