เช็คสถานะ Meta VS Twitter หลังปลดลูกจ้างครั้งใหญ่
สำรวจสถานะองค์กรในมุมลูกจ้างของ Meta และ Twitter หลังปรับผังองค์กรยกใหญ่ ท่ามกลางมรสุมข่าวลือของทั้งสองแพลตฟอร์ม
มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งเมตา (Meta) จะลาออกจากเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ (CEO) ในช่วงต้นปีหน้า ในขณะที่ตัวอีลอน มัสก์ (Elon Musk) เจ้าของและซีอีโอคนใหม่ของทวิตเตอร์ (Twitter) ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการบริหารบริษัทที่ทำให้คนภายในองค์กรสับสน ทั้ง 2 บริษัท เป็นสื่อโซเชียลที่ผู้คนทั่วโลกต่างใช้บริการ การบริหารจนเกิดปัญหาอาจจะเป็นสิ่งที่น่ากังวลทั้งในมุมผู้ใช้และลูกจ้างภายในองค์กรด้วยกันเอง
เมื่อเจาะรายละเอียดของเมตา (Meta) ก็พบว่ามูลค่าทางการตลาดของบริษัท (Market Cap) ในปัจจุบันนั้นอยู่ที่ 8.7 ล้านล้านบาท ซึ่งลดลงไปแล้วหลายล้านล้านบาทเมื่อเทียบกับมูลค่าในต้นปี ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มของเมตา (Meta) ทั้งเฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) และวอทส์แอป (Whatsapp) รวมกันกว่า 3,700 ล้านคน ซึ่งล่าสุดก็ได้ปลดพนักงานออกไปจากองค์กรกว่า 11,000 คน เมื่อไม่นานมานี้ โดยมองว่าเป็นการบริหารผิดพลาดของมาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ที่ให้น้ำหนักการพัฒนาเมตาเวิร์ส (Metaverse) มากเกินไป
ในฟากฝั่งของทวิตเตอร์ (Twitter) เองก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก หลังจากที่อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เข้าซื้อกิจการด้วยมูลค่า 1.6 ล้านล้านบาท ก็ได้นำบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์เพื่อป้องกันการเข้าซื้อกิจการและอ้างถึงความสะดวกในการตัดสินใจบริหารงาน แต่ผลงานแรก ๆ ที่ออกมาก็ทำให้ทั้งผู้ใช้และลูกจ้างสับสน ทั้งระบบยืนยันตัวตน (Verification - Blue Check Mark) ที่รวนและอลหม่านผู้ใช้ทั่วโลกกว่า 240 ล้านคน ส่วนลูกจ้างก็ถูกไล่ออกกว่าครึ่งขององค์กร หรือราว ๆ 3,750 คน และยังบีบให้ลาออกเองเป็นจำนวนมาก (แต่ไม่แน่ชัดว่าเหลือพนักงานเท่าใดในตอนนี้) จนต้องเรียนเชิญกลับมาบางส่วน และเปิดรับคนเพิ่ม
ในขณะที่ความเชื่อมั่นต่อบริษัททั้งสองนั้นอยู่ในภาวะไม่นอน โดยเมตา (Meta) เคยมีมูลค่าหุ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วอยู่ที่ 12,400 บาทต่อหุ้น แต่ราคาปัจจุบันเหลือเพียง 7,000 บาทต่อหุ้น แต่ปรับขึ้นบ้างจากข่าวลือการลาออกของมาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ส่วนทางทวิตเตอร์ (Twitter) เองก็เสียรายได้จากโฆษณาที่บริษัทใหญ่ทั่วโลกถอนตัวไปเพื่อสังเกตทิศทางการบริหารงานและนโยบายสื่อของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ดังนั้นในอนาคตจึงเป็นที่น่าจับตาปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ที่คาดเดาได้ยากในอนาคต
ที่มาข้อมูล Forbes (Twitter), Forbes (Meta), Bloomberg, New York Times, Yahoo
ที่มารูปภาพ Getty Images, Unsplash, Facebook
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67