หูที่ 3 ! เครื่องตรวจจับเสียงอัจฉริยะ แจ้งเตือนผู้ใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน
เอียร์ซ (Earzz) เครื่องตรวจจับเสียงอัจฉริยะทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ แจ้งเตือนผู้ใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน
ในยุคที่สองหูของเรายุ่งกับการใส่หูฟังจนไม่ได้ยินเสียงรอบข้าง นักพัฒนาจากประเทศอังกฤษจึงได้คิดค้นเอียร์ซ (Earzz) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตรวจจับเสียงที่ทำงานร่วมกับเอไอ (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ในการระบุชนิดของเสียง เพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานทราบผ่านแอปพลิเคชัน
สำหรับเอียร์ซเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กมีความกว้างและยาว 48 มิลลิเมตร และสูง 39 มิลลิเมตรทำให้ง่ายต่อการนำไปวางตามจุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ห้องนอนเด็กเล็ก, ห้องซักล้าง หรืออื่น ๆ ยกตัวอย่างในกรณีที่คุณแม่ลูกอ่อนต้องการไปทำกิจกรรมในจุดอื่น ๆ ของบ้าน เอียร์ซจะแจ้งเตือนให้คุณแม่ทราบเมื่อทารกน้อยร้องไห้
การทำงานร่วมกับเอไอ (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์
โดยเอไอที่มาพร้อมกับเอียร์ซจะทำการแยกประเภทเพื่อระบุชนิดของเสียง ที่มันได้ยิน ทำให้สามารถแจ้งเตือนผู้ใช้งานได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเสียงกระจกแตก, เสียงประตูแมว และอื่น ๆ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถระบุเสียงที่ต้องการให้แอปพลิเคชันแจ้งเตือนได้สูงสุด 3 เสียง
อย่างไรก็ตาม เอไอที่มาพร้อมกับเอียร์ซยังมีข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากมันถูกฝึกให้เรียนรู้และระบุชนิดของเสียงอย่างจำกัด โดยตัวแทนบริษัทผู้พัฒนาได้เผยว่าในอนาคตจะเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถฝึกเอไอเพื่อระบุเสียงที่ผู้ใช้งานต้องการได้ นอกจากนี้ เอียร์ซยังมีข้อจำกัดด้านเวลาการใช้งานด้วย เนื่องจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของตัวเครื่องสามารถอยู่ได้นานเพียง 8 ชั่วโมงต่อการชาร์จ 1 ครั้ง เท่านั้น ทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถเปิดอุปกรณ์ไว้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
โดยเอียร์ซเป็นผลงานการพัฒนาของคุณประยัมนา ถิรุเวนคะตะนาถัน (Pradyumna Thiruvenkatanathan) นักพัฒนาและนักลงทุนชาวอังกฤษ ซึ่งถึงแม้ว่าเอียร์ซจะคอยฟังเสียงต่าง ๆ ในบ้านของเรา แต่ผู้พัฒนาก็ได้ยืนยันถึงความปลอดภัยด้านความเป็นส่วนตัว เนื่องจากเอียร์ซจะฟังเพียงเสียงสนทนา แต่ไม่สามารถฟังเนื้อหาการสนทนาได้ ในกรณีที่ได้ยินเสียงสนทนาของมนุษย์
โครงการระดมทุน
สำหรับในตอนนี้ เอียร์ซยังอยู่ในขั้นตอนระดมทุนบนเว็บไซต์ระดมทุนอย่างคิกสตาร์ตเตอร์ (www.kickstarter.com) ซึ่งนักลงทุนจะได้รับเอียร์ซ 1 เครื่องต่อเงินทุน 71 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,500 บาท เมื่อโครงการระดมทุนเสร็จสิ้นจนไปถึงขั้นตอนการผลิต
ข้อมูลจาก www.newatlast.com
ภาพจาก www.kickstarter.com
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67