ชมยานอวกาศโอไรออนบินผ่านดวงจันทร์ในภารกิจอาร์เทมิส 1
ชมภาพยานอวกาศโอไรออน (Orion) บินผ่านดวงจันทร์ที่ความสูงเหนือพื้นผิวประมาณ 130 กิโลเมตร ในภารกิจอาร์เทมิส 1 (Artemis 1)
ยานอวกาศโอไรออน (Orion) ในภารกิจอาร์เทมิส 1 (Artemis 1) แบบไร้นักบินอวกาศถูกส่งด้วยจรวดเอสแอลเอส (SLS) เพื่อเดินทางไปยังดวงจันทร์ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมา และจะเดินทางถึงดวงจันทร์ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2022 (วันนี้) เวลา 19.15 น. โดยประมาณ ซึ่งจะบินผ่านดวงจันทร์ที่ความสูงเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ประมาณ 80 ไมล์ หรือประมาณ 130 กิโลเมตร โดยในช่วงนี้ยานอวกาศโอไรออนจะเปิดใช้เครื่องยนต์การเผาไหม้แบบบินผ่าน ซึ่งจะทำให้ยานอวกาศเดินทางเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ในอีก 4 วัน ต่อมา
การเดินทางกลับโลก
ต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2022 ยานอวกาศจะจุดเครื่องยนต์อีกครั้งเพื่อเข้าสู่วงโคจรถอยหลังระยะไกล (Distant Retrograde Orbit หรือ DRO) ซึ่งจะพายานอวกาศโคจรไปไกลจากพื้นผิวของดวงจันทร์มากถึง 40,000 ไมล์ หรือประมาณ 64,000 กิโลเมตร จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2022 ที่ยานอวกาศจะจุดเครื่องยนต์อีกครั้งเพื่อเดินทางกลับโลก โดยยานอวกาศจะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกในวันที่ 11 ธันวาคม 2022 ด้วยความเร็วมหาศาลก่อนที่จะกระเซ็นลงมาอย่างนุ่มนวลในมหาสมุทรแปซิฟิกนอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนียในที่สุด
ภารกิจอาร์เทมิส 2 (Artemis 2) และอาร์เทมิส 3 (Artemis 3)
สำหรับภารกิจอาร์เทมิส 2 (Artemis 2) นาซา (NASA) จะสามารถเริ่มภารกิจได้ก็ต่อเมื่อภารกิจอาร์เทมิส 1 ผ่านไปได้ด้วยดี เช่น ไม่พบปัญหาการทำงานของยานอวกาศโอไรออน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการส่งนักบินอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ด้วยยานอวกาศโอไรออนแบบไม่ลงจอดภายในปี 2024
โดยในปี 2025 นาซาจะส่งนักบินอวกาศไปเพื่อลงจอดบนดวงจันทร์บริเวณขั้วใต้ในภารกิจอาร์เทมิส 3 (Artemis 3) ซึ่งจะเป็นที่ตั้งของฐานวิจัยบนดวงจันทร์ในอนาคต อันจะเป็นการนำมนุษย์ไปลงจอดบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี นับตั้งแต่ภารกิจสุดท้ายในโครงการอะพอลโล (Apollo Program) ซึ่งจะเป็นการนำมนุษย์เพศหญิงคนแรกและมนุษย์ผิวสีคนแรกไปลงจอดบนดวงจันทร์ด้วย
ข้อมูลจาก www.space.com
ภาพจาก esa
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67