'Midnight' แท็กซี่ไฟฟ้าขับเคลื่อนอากาศสุดเท่ บินง่ายสบายกระเป๋า
อาร์เชอร์ (Archer) บริษัทผู้ผลิตอากาศยานจากสหรัฐอเมริกา เตรียมเปิดให้บริการมิดไนท์ (Midnight) อากาศยานไฟฟ้า (eVTOL) ราคาสบายกระเป๋า
หลังจากมีข่าวเปิดตัวให้บริการอากาศยานไฟฟ้าในหลาย ๆ ประเทศ ล่าสุด อาร์เชอร์ (Archer) บริษัทผู้ผลิตอากาศยานจากสหรัฐอเมริกาไม่ยอมน้อยหน้า เตรียมเปิดให้บริการแท็กซี่ไฟฟ้าขับเคลื่อนอากาศ ในปี 2025 หลังจากการบินทดสอบครั้งแรกประสบความสำเร็จ โดยอาร์เชอร์ได้เผยโฉม มิดไนท์ (Midnight) อากาศยานไฟฟ้าขับเคลื่อนทางดิ่ง (eVTOL) แบบ 4 ที่นั่ง ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการผลิตเพื่อจำหน่าย พร้อมกับรูปแบบการดีไซน์ที่ดูโฉบเฉี่ยวด้วยสีดำเงา มาพร้อมกับความเร็วสูงสุดที่ 241 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และให้ระยะการบินได้ไกลถึง 160 กิโลเมตรต่อการชาร์จเพียง 1 ครั้ง
ด้วยรูปลักษณ์ที่ดูดุดัน และการวางทิศทางใบพัดตลอดความยาวปีกถึง 12 ใบพัด ทำให้อากาศยานลำนี้ บินได้ในทั้งแนวดิ่ง และแนวล่อง อีกทั้งยังรองรับการชาร์จแบบฟาสต์ชาร์จ หรือชาร์จเร่งด่วนได้ในเวลาเพียง 10 นาที ซึ่งให้ระยะการเดินทางแบบไปกลับรอบละ 32 กิโลเมตรทั้งนี้ มิดไนท์ออกแบบห้องโดยสารภายใน พร้อมที่นั่งให้ลูกค้าแบบ 4 ที่นั่ง เพื่อมอบประสบการณ์การเดินทางเป็นส่วนตัวแบบพิเศษ ทั้งยังเคลมว่าด้วยแท็กซี่ไฟฟ้าบินได้ลำนี้ ยังให้เสียงที่เงียบกว่าเฮลิคอปเตอร์หลายสิบเท่า
ที่มาของรูปภาพ archer.com
ส่วนราคาค่าบริการ มีการคาดการณ์ว่าเริ่มต้นอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,500 บาท ต่อเที่ยวบิน นอกจากนี้ อาร์เชอร์เคลมว่าในการเดินทางด้วยรถยนต์ ซึ่งตามปกติอาจจะใช้เวลามากกว่าครึ่งชั่วโมง แต่ยานมิดไนท์จะพาไปถึงเป้าหมายภายใน 10 นาทีเท่านั้น ด้วยราคาค่าบริการและระยะเดินทางแล้ว จึงถูกมองว่ามีราคาที่ค่อนข้างถูก หากเทียบกับการเดินทางในนครนิวยอร์ก ซึ่งมีค่าครองชีพค่อนข้างสูง ทั้งยังตัดปัญหาเรื่องการจราจรที่ติดขัดได้
โดยล่าสุดบริษัทตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2024 หากได้รับการรับรองจากองค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ก็จะเริ่มดำเนินแผนการต่อไปคือ เริ่มให้บริการเที่ยวบินแรกในปี 2025 นี้ และหากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี อาร์เชอร์ยังวางแผนจะสร้างโรงงานที่จะผลิตอากาศยานมิดไนท์ได้มากถึง 650 ลำต่อปี และต่อด้วยขยายจำนวนการผลิตเป็น 2,300 ลำต่อปี
สำหรับเส้นทางการบินแรกภายในปี 2025 อาร์เชอร์ระบุว่า จะเริ่มจากลานจอดเฮลิคอปเตอร์ในนครแมนฮัตตัน นิวยอร์ก จากท่าเรือ 6 ไปสู่สนามบินนานาชาตินูอาร์ค ลิเบอร์ตี (Newark Liberty)
ที่มาของข้อมูล newatlas.com
ที่มาของรูปภาพ archer.com
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67