วิจัยใหม่เผย AirPods ใช้ทดแทนเครื่องช่วยฟังเกรดพรีเมียมได้
ทีมนักวิจัยในไต้หวันเผยว่า หูฟังไร้สายจาก Apple หรือ AirPods สามารถถูกใช้เป็นเครื่องช่วยฟังคุณภาพดี ทั้งยังมีราคาถูก
ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่ามีผู้บกพร่องทางการได้ยินทั่วโลกมากกว่า 400 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนครึ่งหนึ่งของประชากรยุโรป อีกทั้งสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยว่าประมาณ 15% ของประชากรสหรัฐฯ กำลังมีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่น่าประหลาดใจคือ ประมาณ 75% ของผู้ป่วยดังกล่าวในสหรัฐฯ ไม่ได้ใช้เครื่องช่วยฟังเลย และยิ่งกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ก็อาจอนุมานได้ว่า สถานการณ์อาจเลวร้ายกว่านั้นในประเทศด้อยพัฒนาหลาย ๆ แห่ง
ข้อมูลยังระบุเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินบางประเภท จะไม่ใช้เครื่องช่วยฟังเนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวมีราคาสูงมาก ราคาของเครื่องช่วยฟังระดับเริ่มต้นอยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์ หรือ 35,700 บาท และหากต้องการใช้ของที่มีคุณภาพ เครื่องช่วยฟังเกรดพรีเมียมอาจมีราคามากกว่า 10,000 ดอลลาร์ หรือ 357,000 บาท นอกจากนี้ “คนไข้หลายคนลังเลที่จะใส่เพราะไม่อยากดูแก่” เหยิน ฝูเฉิง (Yen-fu Cheng) ศาสตราจารย์ หนึ่งในผู้วิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึกไทเป ในประเทศไต้หวันกล่าว
ที่มาของรูปภาพ Apple
โดยในการศึกษาล่าสุด พวกเขาเสนอว่า ผู้บกพร่องทางการได้ยิน สามารถใช้ AirPods เป็นอุปกรณ์ช่วยฟังได้ด้วยฟีเชอร์ฟังสด (Live Listen) ซึ่งสามารถช่วยเร่งระดับเสียงได้ และถูกปล่อยมาให้ใช้ในปี 2016
สำหรับฟีเชอร์ Live Listen นี้ จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถฟังเสียงต่าง ๆ เช่นเสียงหยดน้ำ เสียงนกร้อง ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นผ่าน AirPods โดยการวาง iPhone ไว้ใกล้กับจุดที่ต้องการฟัง โดยฟีเชอร์นี้จะช่วยขยายสัญญาณเสียงที่มาจากเป้าหมาย ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับเครื่องช่วยฟัง
ทั้งนี้ นักวิจัยได้ทดสอบเปรียบเทียบ AirPods 2 และ AirPods Pro กับเครื่องช่วยฟังระดับเริ่มต้น และเครื่องช่วยฟังระดับพรีเมียมกับผู้ทดสอบ 21 คน ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง เมื่อทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ทั้งสี่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงรบกวนจากด้านหน้า มีเพียงเครื่องช่วยฟังเท่านั้นที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม สำหรับการทดสอบในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังจากด้านข้าง และสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ AirPods Pro สามารถใช้งานได้เกือบเทียบเท่ากับเครื่องช่วยฟังระดับพรีเมียม ซึ่งแบ่งแยกตามสถานการณ์ที่มีเสียงดัง หูฟังทั้งสองรุ่นจะมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับเครื่องช่วยฟังระดับพรีเมียม และในสภาวะที่เงียบสงบ AirPods รุ่นธรรมดาก็ทำงานได้ดีพอ ๆ กับเครื่องช่วยฟังในระดับเริ่มต้น ยิ่งไปกว่านั้น แม้ทีมวิจัยจะพบว่า AirPods 2 ทำงานได้ไม่เทียบเท่าเครื่องช่วยฟัง แต่นักวิจัยสังเกตว่าผู้ร่วมทดสอบใช้ AirPods 2 สามารถได้ยินได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับตอนที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์ใด ๆ
พวกเขายังเน้นย้ำว่า จากคุณสมบัติตัดเสียงรบกวนของ AirPods Pro หูฟังรุ่นนี้จึงกลายเป็นทางเลือกเครื่องช่วยฟังที่ดีกว่า AirPods 2 ในขณะที่อธิบายผลการศึกษาของพวกเขาเพิ่มเติม ยิ่ง หุ่ยหลาย (Ying-Hui Lai) ผู้ร่วมวิจัยเผยว่า พวกเขาหวังว่า การค้นพบนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับวิศวกรของบริษัทต่าง ๆ เพื่อออกแบบเครื่องช่วยฟังและผลิตภัณฑ์ขยายเสียงสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยินต่อไป
หุ่ยหลายยังกล่าวเสริมว่า “ตลาดหูฟังไร้สายทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว บางบริษัทสนใจที่จะสำรวจความเป็นไปได้ในการออกแบบเอียร์บัดที่มีคุณสมบัติขยายเสียง การศึกษาของเราพิสูจน์ว่าแนวคิดนี้เป็นไปได้”
ทั้งนี้ แอร์พอดยังมีคุณประโยชน์มากมาย เช่น ราคาของเครื่องช่วยฟังระดับพรีเมียมที่นักวิจัยใช้ในระหว่างการศึกษาอยู่ที่ราว 350,000 บาท แต่ AirPods Pro ที่ให้ประสิทธิภาพใกล้เคียงกันมีราคาเพียง 249 ดอลลาร์ หรือราว 8,800 บาท และแม้จะมีราคาถูก แต่หูฟังของ Apple ก็มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ในเครื่องช่วยฟังทั่วไปถึง 4 ใน 5 อย่าง ยิ่งไปกว่านั้น AirPods Pro ยังถูกใช้โดยผู้คนหลายล้านคนในแต่ละวัน ผู้ป่วยที่ใช้หูฟังไร้สายเป็นเครื่องช่วยฟังมักจะรู้สึกสบายใจมากขึ้น และไม่มีการแบ่งแยกและการตีตราทางสังคมใด ๆ สำหรับการใช้หูฟังเหล่านี้
“แน่นอนว่าหูฟังไร้สายเหล่านี้ไม่สมบูรณ์แบบ แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องช่วยฟังระดับมืออาชีพได้ ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแม้จะใช้เอียร์บัดเหล่านี้ก็ตาม” ศาสตราจารย์เฉิงกล่าว
ที่มาของข้อมูล interestingengineering.com
ที่มาของรูปภาพ Howard Bouchevereau
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67