TNN ตอนที่ 5 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านนวัตกรรมอาหารอนาคตใน APEC 2022

TNN

Tech

ตอนที่ 5 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านนวัตกรรมอาหารอนาคตใน APEC 2022

ตอนที่ 5 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านนวัตกรรมอาหารอนาคตใน APEC 2022

หนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงในเวทีการประชุม APEC 2022 คือเรื่องอาหารอนาคต หรือ Future Food ที่เน้นการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามาสร้าง สรรค์ผลิตภัณฑ์อาหาร และลดการใช้ทรัพยากร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ รวมถึงผู้ประกอบการไทย ติดตามได้จากรายงาน

หนึ่งในเป้าหมายของเวที APEC 2022 การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ที่จัดขึ้นที่ประเทศไทยในปีนี้ ก็คือ การมุ่งเน้น ความร่วมมือในการขับเคลื่อนกลุ่มประเทศต่าง ๆ ไปสู่ Digital Economy หรือ เศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการผนวกใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มผลผลิต และเสริมประสิทธิภาพในขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่เทคโนโลยีภาคการผลิต การขาย ไปจนถึงการขนส่ง 


ซึ่งหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่เดินหน้าสู่ Digital Economy ก็คือ Future Food  นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตวัตถุดิบทดแทน สร้างสรรค์เมนูอาหาร ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป 


ทั้งนี้ ยังเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤตสภาพอากาศ และปัญหาพื้นที่เพาะปลูกไม่เพียงพอ รวมถึงป้องกันปัญหาขาดแคลนอาหารในอนาคต สืบเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก // โดยองค์การสหประชาชาติ หรือ UN คาดการณ์ว่า ในปี 2030 ประชากรโลกจะเพิ่มสูงถึง 8.5 พันล้านคน จากปัจจุบันที่ 7.3 พันล้านคน


และเมื่อพิจารณาข้อมูล มูลค่าตลาด Future Food ในประเทศไทย จากการเปิดเผยของสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีมากถึง 9.1 หมื่นล้านบาท จึงถือเป็นประตูสู่โอกาสสำคัญของผู้ประกอบการและสตาร์ตอัปด้านนวัตกรรมอาหารของไทย


ซึ่ง ณ เวลานี้ หนึ่งในประเภทของ Future Food ที่น่าสนใจและกำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนรักสุขภาพและใส่ใจสิ่งแวดล้อมก็คือ ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Plant Based อาหารโปรตีนจากพืช เช่น  “มัดใจ” สตาร์ตอัปไทยที่รังสรรค์เมนูแปรรูปจากเห็ดแครง เห็ดท้องถิ่นของภาคใต้  ให้โปรตีนสูง นำไปแปรรูปโดยวิธีฟรีซดรายเพื่อรักษารสชาติ // ซึ่งนอกจากจำหน่ายในไทยแล้ว ยังส่งขายในแถบประเทศเพื่อนบ้านด้วย



นอกจากนี้ ยังมี “Sewiito KAP KAP” (ซีวีโต้ แค๊บ แค๊บ) ผลิตภัณฑ์แคปหมู ที่ทำจากข้าวสาลี ที่ใช้เทคนิคการเหวี่ยงน้ำมันหลังการทอด ทำให้มีน้ำมันน้อย เมื่อเทียบกับกลุ่มอาหารทอดอื่น ๆ ที่สำคัญยังเป็นหนึ่งในเมนูอาหารแห่งอนาคตที่ถูกจัดเสิร์ฟให้ผู้นำการประชุมเอเปกครั้งนี้ด้วย 


ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจด้านอาหาร ด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 


ตัวอย่างเช่น  นวัตกรรม PLANT-TEC หรือเทคนิคการสร้างรสสัมผัสเสมือนเนื้อสัตว์ ที่เป็นเอกสิทธิ์นวัตกรรมของซีพีเอฟ (ประเทศไทย) ที่เกิดขึ้นจากการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อทางเลือก อันเป็นความร่วมมือระหว่าง CPF RD Center และบริษัทด้าน Plant-based ระดับโลกจากหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน 


ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช หรือ “MEAT ZERO” เนื้อทางเลือกที่สมบูรณ์แบบ ทั้งลักษณะ รสชาติ กลิ่น เนื้อสัมผัส และยังสามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารได้หลากหลาย แบบน้ี / ต้องใช้เวลาพัฒนามากกว่า 2 ปี และผ่านการทดลองมามากกว่า 2,000 ครั้ง 

แม้ว่า สภาพแวดล้อมของประเทศไทย จะเอื้อต่อการเพาะปลูกและให้ผลผลิต จนทำให้ ไทย เป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก จนได้สมญานามว่าเป็น “ครัวของโลก” / แต่ ถ้าหากมีการผลักดัน และต่อยอดนวัตกรรมอาหาร Future Food ด้วยการใช้เทคโนโลยี เข้ามาเป็นตัวช่วยในการรังสรรค์วัตถุดิบ อย่างต่อเนื่อง / ก็ย่อมจะช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น 


นอกจากนี้ Future Food เป็นกุญแจที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมอาหารได้อย่างมหาศาล เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก และนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร 


สอดคล้องไปกับแนวคิดหลักของการประชุมเอเปกที่ไทยพยายามผลักดันอย่าง BCG (Bio-Circular-Green) โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่จะทำให้โลกของเรามีทรัพยากรอาหารเพียงพอต่อการบริโภคในอนาคตได้อย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน


ข่าวแนะนำ