TNN APEC 2022 รับมือภาวะโลกร้อน งานวิจัยกรีนแลนด์ชี้ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าที่คิด

TNN

Tech

APEC 2022 รับมือภาวะโลกร้อน งานวิจัยกรีนแลนด์ชี้ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าที่คิด

APEC 2022 รับมือภาวะโลกร้อน งานวิจัยกรีนแลนด์ชี้ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าที่คิด

การละลายของแผ่นน้ำแข็ง NEGIS มีอัตราที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้นภายในสิ้นศตวรรษนี้

งานวิจัยล่าสุดพบว่าแผ่นน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่ในกรีนแลนด์กำลังละลายในอัตราที่มีความเร็วสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยข้อมูลในรายงานระบุว่าการละลายจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าที่คำนวณไว้มากถึง 6 เท่า ผลกระทบดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในกรีนแลนด์แต่ส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ริมชายฝั่งทะเลหลายประเทศ


การศึกษาวิจัยในครั้งนี้จัดทำโดยมหาวิทยาลัยดาร์ตมัธ (Dartmouth College) รัฐนิวแฮมป์เชียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทีมวิจัยใช้การระบุตำแหน่งด้วย GPS ผ่านดาวเทียม และการสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ประเมินการละลายของแผ่นน้ำแข็งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ บริเวณแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณที่ถูกเรียกว่า NEGIS 


จากการตรวจสอบและคำนวณอย่างละเอียดพบว่าการละลายของแผ่นน้ำแข็ง NEGIS มีอัตราที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้นภายในสิ้นศตวรรษนี้ ซึ่งมีปริมาณเทียบเท่าการละลายของแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ในภาวะปกติเกือบ 50 ปี 


การละลายอย่างรวดเร็วของแผ่นน้ำแข็ง NEGIS เริ่มต้นในปี 2012 ส่งผลให้เกิดการแตกตัวของแผ่นน้ำแข็ง ทำให้น้ำทะเลที่อุ่นกว่ามากกว่าไหลเข้าไปลึกกว่าเดิมทำให้ธารน้ำแข็งเริ่มหดตัวเข้าไปลึกกว่าเดิมเป็นระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร จากบริเวณที่แผ่นน้ำแข็ง NEGIS บรรจบกับมหาสมุทร


เนื่องจากใช้เทคโนโลยี GPS การระบุตำแหน่งผ่านดาวเทียมทำให้งานวิจัยมีความแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ผลการศึกษาบางส่วนยังระบุว่าการละลายของแผ่นน้ำแข็งยังคงดำเนินต่อไปตั้งแต่ฤดูหนาวของปี 2021 และฤดูร้อนในปี 2022  


นักวิจัยได้อยู่ศึกษาวิจัยในบริเวณธารน้ำแข็งเป็นระยะเวลานานทำให้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แผ่นน้ำแข็งค่อย ๆ ถอยห่างจากชายฝั่งไปเรื่อย ๆ การค้นพบในงานวิจัยชิ้นนี้ส่งผลต่อการประมาณการณ์ของระดับน้ำทะเลในปัจจุบันเป็นอย่างมาก โดยนักวิจัยคาดว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น 22-98 เซนติเมตร ภายในสิ้นศตวรรษนี้


จากปัญหาธารน้ำแข็งละลายและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้ ความร่วมมือจากทุกประเทศกลายเป็นสิ่งสำคัญและหนึ่งในประเด็นการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC)  ได้บรรจุปัญหาดังกล่าวเอาไว้เพื่อให้ทุกประเทศร่วมกันรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม บรรลุเป้าหมายการเป็นเขตเศรษฐกิจผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ การบริหารจัดการของเสียและขยะอย่างยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนการลดภาวะโลกร้อนของกลุ่มประเทศภูมิภาคให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน


ที่มาของข้อมูล Space.com

ที่มาของรูปภาพ Pixabay.com 

ข่าวแนะนำ