ชมดิไซน์ “Oxagon” เมืองลอยน้ำใหญ่ที่สุดในโลกของซาอุดีอาระเบีย
หลายประเทศเริ่มหาวิธีการรับมือกับปัญหาน้ำทะเลท่วมสูง เช่นการสร้างเมืองลอยน้ำ วันนี้เลยจะพาไปดูโครงการสร้างเมืองลอยน้ำใหญ่ที่สุดในโลก ณ ซาอุดีอาระเบีย ที่ตั้งเป้าเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งอนาคต
ภาวะโลกร้อนทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง จนทำให้พื้นที่อยู่อาศัยเริ่มหายไป เพื่อหาทางแก้ไข จึงได้มีโครงการสร้างเมืองลอยน้ำเกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่เดินหน้าสร้างเมืองลอยน้ำแห่งใหม่ ตั้งเป้าเป็นโครงสร้างเมืองลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เมืองลอยน้ำใหญ่ที่สุดในโลก
โครงสร้างเมืองลอยน้ำแห่งนี้ มีชื่อว่า Oxagon (ออกซ์เซกอน) ออกแบบเป็นเมืองท่าลอยน้ำริมชายฝั่ง โดยจะถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของพื้นที่เมือง Neom (นีอุม) ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองใหม่แห่งอนาคต ที่ทางการซาอุดีอาระเบียเคลมว่าจะมีขนาดใหญ่กว่ามหานครนิวยอร์กถึง 33 เท่า
เมืองลอยน้ำแห่งนี้ ออกแบบมาเพื่อเป็นเมืองอุตสาหกรรม นวัตกรรมและท่าเรือที่ทันสมัย จุดเด่นคือลักษณะของเมือง ที่เป็นรูปแปดเหลี่ยมผ่ากลาง เพื่อให้เรือสามารถเข้ามาจอดเทียบท่าได้ และยังตั้งอยู่ที่ทำเลดีคือบริเวณทะเลแดงใกล้กับคลองสุเอซ คลองที่มีการขนส่งสินค้ามากที่สุดในโลก
เมืองท่าทันสมัยแห่งใหม่ของโลก
นอกจากท่าเรือแล้ว ยังมีการวางผังโรงงานอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัยโดยรอบ ตั้งเป้ารองรับประชากรกว่า 90,000 คน และเปิดโอกาสตำแหน่งงานใหม่ ๆ ถึง 70,000 ตำแหน่ง เพื่อต่อยอดไปเป็นหนึ่งในศูนย์กลางโลจิสติกส์แบบบูรณาการ ตลอดจนการเชื่อมต่อท่าเรือและสนามบินล้ำสมัย
ส่วนภายในแบ่งส่วนนวัตกรรมออกเป็น 7 ส่วน ได้แก่ พลังงาน ระบบการเดินทาง การจัดการน้ำ อาหาร สุขภาพ เทคโนโลยีดิจิทัล และสถาปัตยกรรมการก่อสร้างที่ทันสมัย ซึ่งทั้งหมดจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียน 100% เพื่อการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์อีกด้วย
สำหรับเมืองลอยน้ำแห่งนี้ เปิดตัวโครงการไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา และมีกำหนดสร้างแล้วเสร็จในปี 2030 และเมื่อเสร็จสิ้นโครงการก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเมืองที่น่าจับตาในฐานะศูนย์รวมนวัตกรรม เทคโนโลยี และแหล่งรวมแรงงานระดับหัวกะทิ ที่จะมาสร้างสรรค์ผลงานสู่สายตาชาวโลกมากขึ้น อีกทั้งยังตอกย้ำความมุ่งมั่นของประเทศที่ต้องการสร้างเมืองใหม่ เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตในโลกอนาคตอันใกล้นี้มากขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67