ประเทศจีนส่งโมดูลเหมิงเถียน เชื่อมต่อสถานีอวกาศเทียนกง
ประเทศจีนส่งโมดูลเหมิงเถียน (Mengtian) ด้วยจรวดลองมาร์ช 5บี (Long March 5B) เพื่อเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong Space Station)
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2022 ที่ผ่านมา จรวดลองมาร์ช 5บี (Long March 5B) ปล่อยตัวจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมเหวินชาง สำหรับการส่งโมดูลเหมิงเถียน (Mengtian) ขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกที่ความสูงเหนือพื้นโลกประมาณ 380 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong Space Station) ซึ่งหลังจากการเปิดตัวเป็นระยะเวลา 13 ชั่วโมง องค์การอวกาศแห่งประเทศจีน (CMSA) ได้ยืนยันว่าโมดูลเหมิงเถียนได้เชื่อมต่อเข้ากับสถานีอวกาศเทียนกงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โมดูลเหมิงเถียน (Mengtian)
โดยโมดูลเหมิงเถียนมีความยาว 17.9 เมตร, มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.2 เมตร และหนักประมาณ 22 ตัน ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นโมดูลสำหรับการทดลองทางวิทยาศาสตร์บนอวกาศ เช่น การทดลองด้านฟิสิกส์ของไหล, วัสดุศาสตร์, เทคโนโลยีอวกาศ และอื่น ๆ ดังนั้นจึงใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ไปกับการบรรจุอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ ด้วยปริมาตรรวมเกือบ 110 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาตร 32 ลูกบาศก์เมตร เป็นพื้นที่ที่มนุษย์สามารถใช้งานได้
ไม่เพียงเท่านี้ ด้านนอกของโมดูลยังมีแขนหุ่นยนต์ยาว 5.2 เมตร สำหรับจับตัวอย่างการทดลองไปติดตั้งกับอะแดปเตอร์ด้านนอกโมดูล ซึ่งจะถูกใช้ในกรณีที่ตัวอย่างทดลองจำเป็นต้องสัมผัสกับปัจจัยในอวกาศโดยตรง อีกทั้งยังสามารถใช้ในกรณีของการปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กที่มีน้ำหนักไม่เกิน 100 กิโลกรัม เข้าสู่วงโคจรได้ด้วย
สถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong Space Station)
โดยได้มีการส่งโมดูลเทียนเหอ (Tianhe) และโมดูลเหวินเถียน (Wentian) ขึ้นไปเชื่อมกันก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อเป็นสถานีอวกาศของประเทศจีน ซึ่งมีโมดูลเทียนเหอเป็นโมดูลใจกลาง และการมาถึงของโมดูลเหมิงเถียนจะทำให้ทั้ง 3 โมดูล เชื่อมต่อกันเป็นลักษณะตัวที (T) ซึ่งประเทศจีนมีแผนจะใช้งานสถานีอวกาศเทียนกงเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปี เพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ และอาจเปิดรับนักบินอวกาศจากนานาชาติในอนาคต
ข้อมูลจาก www.spacenews.com
ภาพจาก weibo.com
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67