TNN ยานอวกาศอินไซต์ของนาซา ตรวจพบอุกกาบาตพุ่งชนดาวอังคาร

TNN

Tech

ยานอวกาศอินไซต์ของนาซา ตรวจพบอุกกาบาตพุ่งชนดาวอังคาร

ยานอวกาศอินไซต์ของนาซา ตรวจพบอุกกาบาตพุ่งชนดาวอังคาร

ทีมนักวิทยาศาสตร์ยันยันแล้ว แผ่นดินไหวบนดาวอังคารเมื่อวันที่ 24 ธันวามคม 2021 เป็นผลกระทบจากอุกกาบาตพุ่งชนดาวอังคาร

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2021 ยานอวกาศอินไซต์ (Insight) ของนาซา (NASA) ได้บันทึกแรงสั่นสะเทือนขนาด 4 แมกนิจูด ที่เกิดจากแผ่นดินไหวบนดาวอังคารไว้ได้ ต่อมาในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2022 นักวิทยาศาสตร์จากมาลิน สเปซ ซิสเต็ม (Malin Space Science Systems) ได้ตรวจพบหลุมอุกกาบาตในภาพถ่ายดาวอังคารที่ถ่ายโดยยานอวกาศมาร์สรีคอนเนสเซนซ์ออร์บิเตอร์ (Mars Reconnaissance Orbiter หรือ MRO) ซึ่งทราบว่าเป็นหลุมอุกกาบาตที่เกิดจากการพุ่งชนเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2021 ก่อนที่จะมีการตีพิมพ์การค้นพบนี้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2022 ที่ผ่านมา


หลุมอุกกาบาตบนดาวอังคาร 

โดยหลุมอุกกาบาตดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณเอมะโซนิส แพลนิเทีย (Amazonis Planitia) มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 492 ฟุต หรือ 150 เมตร และมีความลึก 70 ฟุต หรือ 21 เมตร อีกทั้งเศษซากของอุกกาบาตยังกระเด็นไปไกลจากตำแหน่งหลุมอุกกาบาตถึง 23 ไมล์ หรือประมาณ 37 กิโลเมตร

ยานอวกาศอินไซต์ของนาซา ตรวจพบอุกกาบาตพุ่งชนดาวอังคาร

สำหรับอุกกาบาต นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่ามันมีขนาดความกว้างประมาณ 16 - 39 ฟุต หรือ 5 - 12 เมตร ซึ่งเล็กพอที่จะเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศของโลก แต่ไม่ใช่ในชั้นบรรยากาศอันเบาบางของดาวอังคารที่มีความหนาแน่นเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ของชั้นบรรยากาศของโลก


“ภาพถ่ายของผลกระทบจากการพุ่งชนของอุกกาบาตไม่เหมือนที่ฉันเคยเห็นมาก่อน ด้วยหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่เผยให้เห็นถึงชั้นน้ำแข็งและขอบเขตของการระเบิดที่ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นด้วยฝุ่นดาวอังคาร” - ลิลิยา โปซิโอโลวา (Liliya Posiolova) ผู้นำกลุ่มวิทยาศาสตร์และปฏิบัติการวงโคจรที่มาลิน สเปซ ซิสเต็ม


น้ำแข็งใต้พื้นผิวดาวอังคาร 

โดยน้ำแข็งใต้พื้นผิวดาวอังคารจะกลายเป็นทรัพยากรสำคัญในอนาคต ซึ่งสามารถนำมาใช้งานได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการดื่มกิน, เพื่อการเกษตร รวมไปถึงเพื่อเป็นเชื้อเพลิงจรวด


สำหรับการค้นพบในครั้งนี้ของยานอวกาศอินไซต์อาจเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ก่อนการปิดตัวที่จะเกิดขึ้นภายใน 6 สัปดาห์ ข้างหน้า เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์ของยานอวกาศถูกปกคลุมด้วยฝุ่นดาวอังคาร จนส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

ข้อมูลและภาพจาก www.jpl.nasa.gov

ข่าวแนะนำ