ผ้าห่มอวกาศคืออะไร ? เทคโนโลยีคลายหนาวจากอวกาศสู่พื้นโลก
ผ้าห่มอวกาศเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกนำไปใช้ทั้งบนยานอวกาศ, ดาวเทียม, สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ซึ่งต่อมาถูกนำมาใช้บนโลก และรู้จักกันในฐานะผ้าห่มฉุกเฉิน
ย้อนกลับไปในปี 1964 นาซา (NASA) ได้ประดิษฐ์วัสดุชนิดหนึ่งสำหรับโครงการอวกาศสหรัฐฯ (US Space Program) ซึ่งเป็นแผ่นพลาสติกขนาดบางที่เคลือบด้วยเมทัลลิก หรือตัวสะท้อนแสง ทำให้ได้โพลีเอทิลีนเทเรพทาเลตที่เป็นโลหะ อันเป็นวัสดุที่มีความสามารถในการสะท้อนรังสีความร้อนมากถึง 97 เปอร์เซ็นต์
ผ้าห่มสำหรับยานอวกาศ
โดยต่อมาวัสดุดังกล่าวถูกนำมาทำเป็นผ้าห่มอวกาศสำหรับยานอวกาศลูนาร์ (Lunar Module) ในโครงการอะพอลโล (Apollo Program) ด้วยการนำไออะลูมิเนียมบริสุทธิ์เคลือบกับแผ่นวัสดุข้างต้น ซึ่งปัจจุบันถูกนำมาใช้กับยานอวกาศ, ดาวเทียม และรวมไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ด้วย เนื่องจากในอวกาศมีความเข้มข้นของรังสีจากดวงอาทิตย์มากกว่าบนโลก เพราะโลกถูกป้องกันไว้ด้วยชั้นบรรยากาศ ดังนั้นอุปกรณ์บางอย่างในอวกาศจึงไม่สามารถทนต่อรังสีจากดวงอาทิตย์ได้ นักวิทยาศาสตร์จึงให้ผ้าห่มอวกาศสำหรับห่อหุ้มเพื่อป้องกันอุปกรณ์นั้น ๆ ไว้ ซึ่งในกรณีนี้จะมีการจัดวางซ้อนกันโดยเฉลี่ยกว่า 40 ชั้น แต่ก็ยังมีความหนาเพียง 50-125 ไมโครเมตร เท่านั้น (อ้างอิงจากความหนาที่ใช้ในโครงการอะพอลโล)
ผ้าห่มฉุกเฉิน
สำหรับหน้าที่ของผ้าห่มอวกาศก็คือป้องกันไม่ให้อุณหภูมิจากภายนอกเข้าสู่ภายใน และป้องกันไม่ให้อุณหภูมิภายในถ่ายเทสู่ภายนอก ด้วยเหตุนี้ผ้าห่มอวกาศจึงไม่ถูกนำไปใช้แค่บนอวกาศเท่านั้น แต่ยังถูกนำมาใช้บนโลกด้วย โดยจะแตกต่างกันออกไปเล็กน้อยในเรื่องของการจัดเรียงลำดับชั้น ซึ่งรู้จักกันในฐานะผ้าห่มฉุกเฉินที่เป็นอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับนักปีนเขา เนื่องจากคุณสมบัติในการกันน้ำ, กันลม, ทำความสะอาดง่าย, ไม่หดตัว, ไม่เป็นเชื้อรา และสามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย
โดยหนึ่งในเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อย่างการกู้ชีพทีมหมูป่า 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง เมื่อปี 2018 ซึ่งทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยในตอนนั้นได้นำผ้าห่มอวกาศ หรือผ้าห่มฉุกเฉินมาแจกจ่ายให้กับทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิต เพื่อทำการรักษาอุณหภูมิร่างกายของพวกเขาเอาไว้
ข้อมูลจาก en.wikipedia.org
ภาพจาก www.nasa.gov
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67