TNN Robofish หุ่นยนต์ปลารักษ์โลก กินไมโครพลาสติกเป็นอาหาร

TNN

Tech

Robofish หุ่นยนต์ปลารักษ์โลก กินไมโครพลาสติกเป็นอาหาร

Robofish หุ่นยนต์ปลารักษ์โลก กินไมโครพลาสติกเป็นอาหาร

หุ่นยนต์โรโบฟิช (Robo-Fish) เคลื่อนที่โดยการส่ายหางไปมา โดยหุ่นยนต์จะอ้าปากและใช้เหงือกกรองน้ำ และสามารถกรองไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กถึง 2 มิลลิเมตรได้

ขยะพลาสติกในแหล่งน้ำเป็นปัญหาสำคัญที่ยังคงต้องหาวิธีแก้ไขอยู่เรื่อย ๆ ล่าสุดมีไอเดียการพัฒนาหุ่นยนต์ปลาช่วยกำจัดขยะช่วยดูแลแหล่งน้ำ แบบไม่ทำอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม


สำหรับ หุ่นยนต์ กิลเบิร์ต (Gilbert) หรือรู้จักกันทั่วไปในชื่อ โรโบฟิช (Robo-Fish) มีความยาว 50 เซนติเมตร เคลื่อนที่โดยการส่ายหางไปมา โดยหุ่นยนต์จะอ้าปากและใช้เหงือกกรองน้ำ และสามารถกรองไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กถึง 2 มิลลิเมตรได้


ส่วนการกักเก็บขยะ เมื่อช่องในปากหุ่นยนต์เต็ม ส่วนปากก็จะถูกปิดลงโดยอัตโนมัติ และแผ่นปิดเหงือกเหมือนบานเกล็ด ก็จะแผ่ออกมา จากนั้นโพรงในตัวหุ่นยนต์ก็จะถูกยกขึ้น เพื่อบังคับให้น้ำไหลออกจากแผ่นปิดเหงือกที่เป็นตาข่าย 


ทั้งนี้ อุปกรณ์ในตัวโรโบฟิช เบื้องต้นมีระบบวัดแรงเฉื่อยสำหรับคำนวณการเคลื่อนที่ใต้น้ำ นอกจากนั้นยังมีเซนเซอร์ในตัวเพื่อตรวจวัดความขุ่นและระดับแสง ทั้งยังมีไฟส่องสว่างในเวลากลางคืนอีกด้วย


สำหรับการพัฒนาหุ่นยนต์ตัวนี้ มาจากการแข่งขันประกวดหุ่นยนต์ที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเซอเรย์ (Surrey) ในสหราชอาณาจักร เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2021 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนออกแบบหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือด้านสิ่งแวดล้อม 

Robofish หุ่นยนต์ปลารักษ์โลก กินไมโครพลาสติกเป็นอาหาร


ที่มาของรูปภาพ University of Surrey


ในที่สุดก็ได้ผู้ชนะ คือโรโบฟิช (Robo-fish) ซึ่งหลังจากผ่านการทดสอบมากว่า 1 ปี ก็ถูกผลิตมาใช้งานจริงในที่สุด โดยผู้ชนะการประกวดเผยว่า ปัญหาขยะพลาสติกในน้ำ ที่เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อมหาสมุทร กระทบกระแสน้ำ ทะเลสาบ หนองบึง ซึ่งโรโบฟิชที่ทำงานได้แบบอเนกประสงค์ ก็จะช่วยแก้ไขปัญหามลภาวะในน้ำได้โดยตรง


สำหรับรุ่นต้นแบบของโรโบฟิชในปัจจุบัน ยังใช้รีโมตคอนโทรลแบบมีสาย แต่รุ่นต่อไปที่กำลังเร่งพัฒนาอยู่ จะสามารถดักจับอนุภาคไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กยิ่งขึ้น และจะว่ายน้ำได้เร็วขึ้น และใช้ระบบควบคุมแบบไร้สาย


ที่มาของรูปภาพ University of Surrey

ที่มาของข้อมูล newatlas.com


ข่าวแนะนำ