สำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจัน ภารกิจลูซี่ครบรอบการปล่อยตัวปีแรก
ภารกิจลูซี่ (Lucy Mission) ภารกิจสำรวจกลุ่มดาวเคราะห์น้อยโทรจัน ครบรอบการปล่อยตัวในปีแรกแล้ว
ยานอวกาศลูซี่ (Lucy Spacecraft) ที่มีความกว้าง 46.75 ฟุต หรือ 14.25 เมตร และความสูง 23.6 ฟุต หรือ 7.2 เมตร ของภารกิจลูซี่ (Lucy Mission) ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2021 เพื่อสำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจัน (Trojan Asteroids) ที่ไม่เคยมียานอวกาศลำไหนไปถึงมาก่อน ซึ่งด้วยแรงกระตุ้นจากแรงโน้มถ่วงของโลก ยานอวกาศลูซี่จะเดินทางไปเยือนดาวเคราะห์น้อยได้ถึง 8 ดวง ในระยะเวลา 12 ปี
โดยดาวเคราะห์น้อยโทรจันอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เทียบเท่ากับระยะห่างของดวงอาทิตย์กับดาวพฤหัสบดี อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่าดาวเคราะห์น้อยโทรจันมีสารประกอบคาร์บอนสีเข้มที่ปกคลุมด้วยฝุ่นจำนวน และอาจอุดมไปด้วยน้ำและสารระเหยอื่น ๆ
กลุ่มดาวเคราะห์น้อยโทรจัน
ซึ่งดาวเคราะห์น้อยโทรจันที่ยานอวกาศลูซี่จะเดินทางไปสำรวจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ แอล4 โทรจัน (L4 Trojans) และแอล5 โทรจัน (L5 Trojans) โดยจะแบ่งย่อยออกเป็นอีก 3 กลุ่ม ได้แก่ ชนิดซี (C Type), ชนิดพี (P Type) และชนิดดี (D Type) ซึ่งชนิดดีและชนิดพีมีลักษณะเป็นสีแดงเข้มคล้ายกับที่พบในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ในขณะที่ชนิดซีส่วนใหญ่จะพบในส่วนนอกของแถบหลักของดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี
รูปแบบการโคจรของยานอวกาศลูซี่
โดยยานอวกาศลูซี่จะไปบินผ่านดาวเคราะห์น้อยโทรจันในกลุ่มแอล4 แล้ววนกลับมายังโลกและเข้าสู่ชั้นบรรยากาศระดับสูง เพื่ออาศัยแรงส่งจากแรงโน้มถ่วงของโลกในการเหวี่ยงยานอวกาศไปยังดาวเคราะห์น้อยโทรจันในกลุ่มแอล5 และจะโคจรรูปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นระยะเวลา 12 ปี โดยล่าสุดยานโคจรกลับมาเข้าใกล้โลกในวันที่ 16 ตุลาคม 2022 วันเดียวกับตอนปล่อยตัวขึ้นสู่อวกาศเมื่อปีก่อน ระดับความสูงประมาณ 350 กิโลเมตรจากพื้นโลก
อย่างไรก็ตามลักษณะการโคจรตลอดภารกิจของยานอวกาศลูซี่มีความเสี่ยงในการชนกับดาวเทียมในชั้นบรรยากาศระดับสูงของโลก อีกทั้งการกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกอาจทำให้ยานอวกาศไม่สามารถต้านทานแรงโน้มถ่วงของโลกและตกลงสู่พื้นโลกได้ ดังนั้นยานอวกาศลูซี่จึงจำเป็นต้องมีเครื่องยนต์ขนาดเล็ก เพื่อเปิดใช้ในกรณีที่มันจะชนเข้ากับดาวเทียมหรือตกลงสู่พื้นโลก
ข้อมูลจาก www.space.com
ภาพจาก www.nasa.gov
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67