NASA ทดสอบบอลลูนหุ่นยนต์เพื่อสำรวจดาวศุกร์สำเร็จ
องค์การนาซาเผยโครงการสำรวจดาวศุกร์ ดาวที่ได้ชื่อว่าเป็นฝาแฝดของโลก เพื่อตามหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิต โดยภารกิจครั้งนี้จะใช้บอลลูนหุ่นยนต์สำรวจ ที่ล่าสุดพึ่งผ่านการทดสอบ และอาจจะได้ออกเดินทางในเร็ว ๆ นี้
ถึงแม้ดาวศุกร์จะเป็นดาวที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด และได้ชื่อว่าเป็นดาวน้องสาวฝาแฝดของโลก แต่การสำรวจดาวดวงนี้ก็ยังมีอุปสรรคเนื่องจากชั้นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยเมฆพิษหนาปกคลุมทั่วทั้งดาวองค์การนาซาจึงได้ผุด โครงการพัฒนา บอลลูนแอโรบอต (Aerobot balloon) หรือบอลลูนหุ่นยนต์ ที่จะส่งไปสำรวจดาวศุกร์ ซึ่งล่าสุดเพิ่งเสร็จสิ้นการทดสอบเที่ยวบินสำหรับต้นแบบของบอลลูนแอโรบอตเรียบร้อยแล้ว
เที่ยวบินทดสอบเพื่อเตรียมไปดาวศุกร์
เที่ยวบินทดสอบนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยสำหรับภารกิจวีนัส ดูแลโดยห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น หรือ JPL ของนาซา โดยได้ทำการบินเหนือทะเลทราย แบล็กร็อก (Black Rock) ในเนวาดา ซึ่งความสำเร็จของเที่ยวบินทดสอบนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของโครงการในการส่งยานสำรวจกลับไปยังดาวศุกร์อีกครั้ง เนื่องจากดาวศุกร์มีความดัน ความร้อน และก๊าซที่กัดกร่อนรุนแรง จึงเป็นเรื่องยากที่จะส่งยานอวกาศไปสำรวจ
ส่งบอลลูนเพื่อสำรวจดาวศุกร์
แต่ทีมวิจัยมองเห็นความเป็นไปได้ของการส่งหุ่นยนต์ขึ้นไปสำรวจแทน โดยจะจับคู่บอลลูนหุ่นยนต์ กับยานโคจร เพื่อศึกษาชั้นบรรยากาศที่หนาทึบของดาวศุกร์ โดยตัวยานโคจรจะยังอยู่บริเวณเหนือชั้นบรรยากาศ ทำหน้าที่เก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และเป็นตัวถ่ายทอดการสื่อสาร ในขณะที่บอลลูนหุ่นยนต์ทางอากาศ หรือแอโรบอต ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 เมตร จะทำหน้าที่สำรวจชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์
เพื่อทดสอบแนวคิดนี้ นาซาจึงได้ทำการทดสอบบินสองเที่ยวบิน โดยใช้บอลลูนต้นแบบที่มีขนาดประมาณหนึ่งในสามของขนาดจริง พบว่าบอลลูนสีเงินสามารถลอยขึ้นเหนือทะเลทรายแบล็กร็อคกว่า 1.2 กิโลเมตร ทำให้ทีมสามารถเก็บข้อมูล สาธิตการควบคุมระดับความสูง และการเก็บกู้ เพื่อนำไปพัฒนาต่อไป ซึ่งการกลับไปสำรวจดาวศุกร์อาจทำให้มนุษย์สามารถไขคำตอบถึงร่องรอยของชั้นบรรยากาศบนดาวศุกร์ได้ ไม่แน่ว่าอาจจะทำให้เราได้เจอกับร่องรอยของสิ่งมีชีวิต หรือได้ทำความรู้จักกับดาวแฝดพี่น้องของโลกได้มากขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67