นักวิจัยพัฒนา "หุ่นยนต์จิ๋ว" ฆ่าเชื้อโรคในปอดได้สำเร็จเป็นครั้งแรก !!
หุ่นยนต์นี้สามารถแหวกว่ายในปอด เพื่อนำยาปฏิชีวนะเข้าไปกำจัดแบคทีเรียได้อย่างตรงจุด
ไมโครโรบอต (Micro-robot) หรือหุ่นยนต์ขนาดจิ๋ว กลายเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะในวงการแพทย์ ล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ได้พัฒนาหุ่นยนต์จิ๋วที่ช่วยรักษาโรคปอดติดเชื้อรุนแรงจนสำเร็จเป็นครั้งแรก !!
หุ่นยนต์จิ๋วนี้สร้างขึ้นจากเซลล์สาหร่าย ที่สามารถว่ายไปตามเนื้อเยื่อปอดเพื่อเข้าทำลายแบคทีเรียก่อโรค พร้อมทั้งยังได้รับการปรับปรุงโครงสร้างของเซลล์ให้พร้อมต่อสู้กับแบคทีเรียด้วย
นักวิจัยได้ฝังอนุภาคนาโน (Nanoparticles) ไว้บริเวณผิวหน้าของเยื่อหุ้มเซลล์ ซึ่งอนุภาคนาโนนี้มีส่วนประกอบของพอลิเมอร์ชนิดเดียวกับเยื่อหุ้มเซลล์ของเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟืล (Neutrophil cell) และได้บรรจุยาปฏิชีวนะไว้ภายในอนุภาคด้วย
และเนื่องจากการเลือกใช้พอลิเมอร์ชนิดเดียวกับเยื่อหุ้มเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล ส่งผลให้หุ่นยนต์จิ๋วไวต่อการตอบสนองของสารเคมีจากการอักเสบ ที่เซลล์ในร่างกายสร้างขึ้นในบริเวณที่มีเชื้อแบคทีเรีย ทำให้หุ่นยนต์จิ๋วสามารถแหวกว่ายไปยังเชื้อแบคทีเรียได้อย่างเฉพาะเจาะจง และสามารถปล่อยยาปฏิชีวนะฆ่าแบคทีเรียได้ตรงจุด แต่จะไม่กระทบต่อเซลล์ปอดข้างเคียง
จากการทดลองในหนู พบว่าหนูที่ติดเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas aeruginosa (แบคทีเรียก่อโรคในโรงพยาบาล) จากการใส่ท่อช่วยหายใจ หลังจากได้รับหุ่นยนต์จิ๋วเข้าสู่ปอดแล้ว อาการปอดติดเชื้อรุนแรงดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ จนสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเกิน 30 วัน ในขณะที่หนูที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยหุ่นยนต์จิ๋วจะตายภายใน 3 วันหลังติดเชื้อ
นักวิจัยเชื่อว่าหุ่นยนต์จิ๋วรักษาโรคติดเชื้อนี้ ยังสามารถประยุกต์ใช้รักษาโรคติดเชื้อในอวัยวะอื่น ๆ อย่างกระเพาะอาหารหรือตับได้ด้วย ซึ่งหากการทดลองในสัตว์ผ่านพ้นไปด้วยดี ในอนาคตจึงจะนำไปทดลองกับมนุษย์เป็นลำดับถัดไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67