นักบินอวกาศนาซาเดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS โดยใช้ยานอวกาศรัสเซีย
ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีสงครามและความขัดแย้งระหว่างประเทศ
วันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมานักบินอวกาศนาซา แฟรงค์ รูบิโอ (Frank Rubio) เดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS พร้อมนักบินอวกาศรัสเซีย เซอร์เกย์ โปรโคเยฟ (Sergey Prokopyev) และนักบินอวกาศดิมิทรี เปเตลิน (Dmitry Petelin) โดยใช้ยานอวกาศโซยุซ เอ็มเอส-22 (Soyuz MS-22) ของประเทศรัสเซีย ภารกิจดังกล่าวทำให้ปัจจุบันสถานีอวกาศนานาชาติ ISS รองรับนักบินอวกาศจำนวน 10 คน
จรวดโซยุซ-2.1เอ (Soyuz-2.1a) นำยานอวกาศโซยุซ เอ็มเอส-22 (Soyuz MS-22) เดินทางขึ้นจากโลกเมื่อเวลา 13.06 น. โดยใช้ฐานปล่อยจรวดหมายเลข 31 บริเวณศูนย์อวกาศไบโคนูร์คอสโมโดรม (Baikonur Cosmodrome) ประเทศคาซัคสถาน ยานอวกาศโซยุซ เอ็มเอส-22 (Soyuz MS-22) โคจรรอบโลก 2 รอบ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง หลังจากเดินทางขึ้นจากโลกก่อนทำการเชื่อมต่อเข้ากับโมดูลราซเวสต์ (Rassvet) ของสถานีอวกาศนานาชาติ ISS
ในภารกิจนี้นักบินอวกาศแฟรงค์ รูบิโอ (Frank Rubio) เดินทางขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรก ส่วนนักบินอวกาศเซอร์เกย์ โปรโคเยฟ (Sergey Prokopyev) เดินทางขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งที่ 2 และนักบินอวกาศดิมิทรี เปเตลิน (Dmitry Petelin) เดินทางขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรก โดยนักบินอวกาศทั้ง 3 คน จะทำภารกิจทดลองทางวิทยาศาสตร์ การวิจัยด้านการพัฒนาเทคโนโลยีชีววิทยา การวิจัยเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ และงานวิจัยอื่น ๆ
ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศยังคงมีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีสงครามและความขัดแย้งระหว่างประเทศ นอกจากภารกิจยานอวกาศโซยุซ เอ็มเอส-22 (Soyuz MS-22) ที่นักบินอวกาศสหรัฐอเมริกาและรัสเซียเดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS ยังมีภารกิจสเปซเอ็กซ์ ครูว์-5 (SpaceX Crew-5) ซึ่งนักบินอวกาศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและรัสเซียจะเดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศโดยใช้งานยานอวกาศครูว์ดราก้อน (Crew Dragon) ในวันที่ 3 ตุลาคม 2022 จากบริเวณฐานปล่อยจรวดศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ nasa.gov
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67