งานเข้า! ยักษ์ใหญ่ไม่ร่วมผลิตเครื่องยนต์เจ็ทให้กับเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง Overture
ผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินชื่อดังหลายรายแสดงการปฏิเสธที่จะร่วมผลิตเครื่องยนต์ให้ Boom Overture หลัง Rolls-Royce ถอนตัวไปก่อนหน้านี้
การเปิดตัวบูม โอเวอร์เจอร์ (Boom Overture)
บูม ซูเปอร์โซนิก (Boom Supersonic) โด่งดังในฐานะว่าที่ผู้ผลิตเครื่องบินเจ็ทความเร็วเหนือเสียงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการเปิดตัวเครื่องบินบูม โอเวอร์เจอร์ (Boom Overture) ที่ชูจุดเด่นทั้งความเร็วและพิสัยการบินที่ยอดเยี่ยม มีสายการบินสนใจสั่งซื้อล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มสายพานการผลิต แต่เหมือนแผนนี้อาจจะสะดุด หลังจากโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินชื่อดังของโลกที่เคยจับมือกับบริษัทมาตลอดยุติบทบาทของตน และสถานการณ์อาจจะแย่ลง เนื่องจากผู้ผลิตเครื่องยนต์เครื่องบินแบรนด์อื่น ๆ ก็ต่างไม่มีทีท่าจะสนใจร่วมลงทุนกับบูม ซูเปอร์โซนิก (Boom Supersonic) แต่อย่างใด
เครื่องยนต์ที่บูม ซูเปอร์โซนิก (Boom Supersonic) ออกแบบร่วมกันกับโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) นั้นชูจุดเด่นในการทำความเร็วสูงถึง 1.7 มัค หรือราว ๆ 2,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และใช้เชื้อเพลิงพลังงานสะอาดสำหรับอากาศยาน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ซึ่งร่วมพัฒนามาด้วยกันตั้งแต่ปี 2020 และเป็นจุดขายสำคัญที่สุดของบูม โอเวอร์เจอร์
ปัญหาผู้ผลิตเครื่องยนต์ของบูม โอเวอร์เจอร์ (Boom Overture)
การยุติความร่วมมือระหว่างบูม ซูเปอร์โซนิก (Boom Supersonic) กับโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) นั้นส่งผลกระทบต่อทางบูม ซูเปอร์โซนิก (Boom Supersonic) อย่างมาก เนื่องจากบริษัทไม่ได้มีโรงงานสำหรับผลิตเครื่องยนต์มาก่อน ทำให้มีกระแสข่าวว่าบริษัทกำลังเร่งหาพันธมิตรรายใหม่อย่างเร่งด่วน แต่เมื่อโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ถอนตัว บริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินรายอื่น ๆ อย่าง จีอี เอวิเอชั่น (GE Aviation) ฮันนี่เวล (Honeywell) (บริษัทเดียวกันกับใช้อัลลอยต้องห้ามจากจีนในเครื่องบินรบ F-35) และซาฟราน แอร์คราฟต์ เอ็นจิ้นส์ (Safran Aircraft Engines) ก็ต่างพากันส่ายหน้าเมื่อผู้สื่อข่าวด้านอากาศยานสอบถามถึงความร่วมมือกับบูม ซูเปอร์โซนิก (Boom Supersonic)
การยุติบทบาทของโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) รวมถึงบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์รายอื่น ๆ ต่างออกมาในทำนองเดียวกัน นั่นก็คือการอ้างว่าการผลิตเครื่องยนต์ความเร็วเหนือเสียงสำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์นั้นไม่ใช่เป้าหมายหลักในแผนธุรกิจของบริษัทในขณะนี้ ในขณะที่โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ก็ออกแถลงการณ์ในลักษณะนี้อย่างเป็นทางการพร้อมกับอวยพรให้บูม ซูเปอร์โซนิก (Boom Supersonic) นั้นโชคดีอีกด้วย
อนาคตการผลิตเครื่องยนต์ของบูม โอเวอร์เจอร์ (Boom Overture)
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นกับสำนักข่าวบิสสิเนส อินไซด์เดอร์ (Business Insider) ว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่เรื่องของต้นทุน โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่าบูม ซูเปอร์โซนิก (Boom Supersonic) นั้นไม่ได้มีปัญหาในการผลิตเอง แต่การผลิตเองจะส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิต ทำให้การวางราคาขายไว้ที่ลำละ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 7,400 ล้านบาท นั้นจะทำได้ยากขึ้น เพราะต้องลงทุนในทุกกระบวนการด้วยตัวเอง แต่ถ้าหากบูม ซูเปอร์โซนิก (Boom Supersonic) เลือกทำเครื่องยนต์ด้วยตัวเองและสามารถควบคุมต้นทุนได้ ก็จะกลายเป็นผู้เล่นใหม่ในตลาดการผลิตเครื่องบินที่ได้เปรียบสูงในอนาคต เพราะสามารถผลิตหัวใจสำคัญของเครื่องบินอย่างเครื่องยนต์เองได้ คล้ายกับแอปเปิล (Apple) ที่ควบคุมการผลิตชิป (Chip) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของสมาร์ตโฟนของตน
ที่มาข้อมูล Business Insider
ที่มารูปภาพ Boom Supersonic
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67