อยากให้มีจริง ! หนุ่มออกแบบรถ Tesla ติดบูสเตอร์จรวดสุดเฟี้ยว
นักออกแบบฝีมือดีหยิบเอาบูสเตอร์ของจรวดสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) มาผสานกับรถคอนเซปต์คาร์ของเทสลา หน้าตาล้ำเหมือนหลุดออกมาจากหนังไซไฟ
เหล่าบรรดาผู้ชื่นชอบนวัตกรรมยานยนต์ใหม่ ๆ มีเรื่องให้ว้าวกันอีกครั้ง โดยเฉพาะใครที่ชื่นชอบรถจากเทสลา (Tesla) เพราะล่าสุดมีนักออกแบบฝีมือดีหยิบเอาบูสเตอร์ของจรวดสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) มาผสานกับรถคอนเซปต์คาร์ของเทสลา หน้าตาล้ำเหมือนหลุดออกมาจากหนังไซไฟ
ผลงานออกแบบชิ้นนี้เป็นฝีมือสรรค์สร้างของ แม็กซ์ ชไนเดอร์ (Max Schneider) หนุ่มนักออกแบบยานยนต์ที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น โดยเขาได้นำเอารถคอนเซปต์ไอเดียเทสลา รุ่นโรดสเตอร์ (Roadster) รถสปอร์ตสมรรถนะสูงสุดของเทสลามาต่อยอด
ซึ่งชิ้นส่วนหลักก็คือการเอาบูสเตอร์จากจรวดสเปซเอ็กซ์มาใส่ในรถไฟฟ้า ซึ่งเมื่อคำนวณแล้ว คาดว่า จะช่วยเสริมกำลังสูงสุดให้ไปอยู่ที่ 2,600 แรงม้า เพิ่มความเร็วสูงสุดไปที่ 467 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากเดิมที่ประมาณ 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น และด้วยแรงกดจากบูสเตอร์พิเศษในแกนล้อแต่ละแกนที่ทำงานแยกกัน ทำให้รถเลี้ยวได้แม้เจอแรงเหวี่ยงขนาด 4G และไม่พลิกคว่ำโดยง่าย และหากเป็นรุ่นสำหรับการแข่งขัน จะถูกเสริมพละกำลังไปได้ถึง 2,950 แรงม้า ทำความเร็วได้ที่ 526 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนพลังงานใช้การขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเหลวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ที่มาของรูปภาพ Maximillian Schneider
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรถรุ่นนี้มีการติดตั้งอุปกรณ์พิเศษเช่นแบตเตอรี่ และบูสเตอร์จรวด ทำให้คำนวณน้ำหนักรถออกมาได้ที่ประมาณ 2.17 ตัน เพิ่มขึ้นจากรุ่นดั้งเดิมพอสมควร อีกทั้งระยะทางที่วิ่งได้ จะลดลงเหลือเพียง 1 ใน 10 จากรุ่นปกติ ที่วิ่งได้ราว 640 กิโลเมตร รวมถึงพื้นที่โดยสารของตัวรถจำเป็นต้องตัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายออกไป เพื่อให้มีพื้นที่ติดตั้งบูสเตอร์จรวดบริเวณหลังตัวรถ และเหลือที่นั่งเพียงที่นั่งเดียวเท่านั้นครับ
สำหรับ ชไนเดอร์ ผู้ออกแบบรถคันนี้ ระบุว่าแรงบันดาลใจ มาจากไอเดียตั้งต้นที่ว่า หากมีการนำเอาแนวคิดการสร้างจรวดของสเปซเอ็กซ์ ที่ใช้ตัวบูสเตอร์ปรับแต่งองศาการบินมาใช้กับรถยนต์จะเกิดอะไรขึ้น? และลองปรับแต่งจนออกมาเป็น Tesla SpaceX Model R Hypercar คันนี้
อย่างไรก็ตามการสร้างรถคันนี้ ยังเป็นเพียงคอนเซปต์ไอเดีย แต่ก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจ สำหรับการต่อยอดเทคโนโลยีวิศวกรรมยานยนต์ เป็นรากฐานไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ในอนาคต
ที่มาของข้อมูล interestingengineering.com
ที่มาของรูปภาพ Maximillian Schneider
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67