ฟีเจอร์ SOS ขอความช่วยเหลือฉุกเฉินผ่านดาวเทียมของ iPhone 14 ทำงานอย่างไร ?
แอปเปิล (Apple) เปิดตัวฟีเจอร์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน ( Emergency SOS) ผ่านดาวเทียม หมดห่วงแม้อยู่ในที่ไร้สัญญาณมือถือ
เมื่อช่วงกลางคืนของวันที่ 7 กันยายน 2022 ที่ผ่านมา แอปเปิล (Apple) ได้ทำการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือฟีเจอร์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉินผ่านทางดาวเทียม (Emergency SOS via satellite) และจะเปิดให้ใช้งานฟรีเป็นเวลากว่า 2 ปี สำหรับไอโฟน 14 (iPhone 14) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 ที่จะถึงนี้เป็นต้นไป
โดยเมื่อผู้ใช้งานตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และอยู่ในที่อับสัญญาณมือถือและไวไฟ ทำให้ไม่สามารถโทรหรือส่งข้อความขอความช่วยเหลือได้ ผู้ใช้งานสามารถกดไปยังฟีเจอร์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉินผ่านทางดาวเทียมแทนได้ โดยจะมีคำถามสั้น ๆ ให้ตอบ เช่น คุณอยู่ในสถานการณ์ไหน ? ไฟไหม้, หลงทาง, มีผู้บาดเจ็บ และอื่น ๆ
หลังจากนั้นไอโฟนจะแสดงตำแหน่งดาวเทียมบนหน้าจอ เพื่อให้ผู้ใช้งานทำการชี้ไอโฟนไปที่ตำแหน่งนั้น แล้วตัวเครื่องจะทำการส่งสัญญาณไปยังดาวเทียม และดาวเทียมจะทำการส่งสัญญาณไปยังศูนย์ให้ความช่วยเหลือที่ใกล้ที่สุด ซึ่งผู้ใช้งานจะต้องอยู่ในที่โล่งกว้างที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง เมื่อนั้นจะใช้เวลาน้อยกว่า 15 วินาที แต่หากอยู่ในพื้นที่ที่ท้องฟ้าไม่ปลอดโปร่งมากนัก อาจใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 1 นาที
เมื่อไอโฟนเชื่อมต่อกับศูนย์ให้ความช่วยเหลือแล้ว มันจะทำการส่งข้อมูลอย่างตำแหน่ง, สถานการณ์, ข้อมูลทางการแพทย์ส่วนบุคคล (ในกรณีที่มีการตั้งค่าไว้ตั้งแต่แรก) และระดับแบตเตอรี่ไปยังศูนย์ให้ความช่วยเหลือโดยอัตโนมัติ หลังจากนั้นศูนย์ให้ความช่วยเหลือจะทำการสื่อสารกลับไปยังผู้ใช้งานผ่านข้อความที่ส่งผ่านดาวเทียมและทำการช่วยเหลือต่อไป
อย่างไรก็ตาม มีศูนย์ให้ความช่วยเหลือในบางพื้นที่ไม่ยอมรับข้อความขอความช่วยเหลือฉุกเฉินผ่านดาวเทียม แอปเปิลจึงได้จัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งทำงานโดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกอบรมจากแอปเปิล เพื่อทำการส่งข้อความขอความช่วยเหลือฉุกเฉินให้ในนามของผู้ใช้งาน
แม้จะไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่าฟีเจอร์นี้ทำงานร่วมกับดาวเทียมอะไรอย่างเป็นทางการจากแอปเปิล แต่ได้มีการเปิดเผยจากบริษัท โกลบอลสตาร์ (Globalstar) ซึ่งเป็นการยื่นหนังสือสัญญาต่อตลาดหลักทรัพย์ ว่าด้วยสัญญาให้บริการดังกล่าวร่วมกันกับแอปเปิล
ข้อมูลและภาพจาก www.apple.com
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67