สหรัฐอเมริกาทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก HAWC ความเร็วสูงสุดเกิน 5 มัค สำเร็จครั้งที่ 2 ติดต่อกัน
การทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก HAWC ครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
การแข่งขันพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก HAWC หรือ Hypersonic Air-breathing Weapon Concept ทำความเร็วสูงสุดเกิน 5 มัค สำเร็จครั้งที่ 2 ติดต่อกัน ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกรุ่นดังกล่าวถูกออกแบบและพัฒนาโดยบริษัท เรย์ธีออน เทคโนโลยี (Raytheon Technologies) และนอร์ทธรอป กรัมแมน (Northrop Grumman) สองบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีการทหาร การบินและอวกาศ
การทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก HAWC ครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยใช้วิธีการปล่อยตัวขีปนาวุธจากเครื่องบินทิ้งระเบิดในระดับเพดานบินสูง ขีปนาวุธติดตั้งเครื่องยนต์แบบสแครมเจ็ต (Scramjet) สามารถทำความเร็วได้มากกว่า 5 มัค หรือ 6,174 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตามเป้าหมายการพัฒนาเทคโนโลยีของทั้งสองบริษัทไม่ได้เน้นเพียงแค่ความเร็วแต่ยังเพิ่มขีดความสามารถในการโจมตีที่แม่นยำภายใต้ระบบการควบคุมที่มีความเสถียรสูง
การพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งถูกพัฒนาขึ้นมา ก่อนหน้านี้หลายประเทศเช่น รัสเซียและจีน ประสบความสำเร็จพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกมาได้ระยะหนึ่งแล้ว
สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกาโครงการพัฒนาขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก HAWC อยู่ภายใต้การควบคุมและดูแลโดยสำนักงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงหรือ DARPA กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา โครงการถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างลับ ๆ ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา การทดสอบขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก HAWC ประสบความสำเร็จครั้งแรกในวันที่ 2 กันยายน 2021 ที่ผ่านมา
กระบวนการทดสอบแบ่งออกเป็นการจำลองด้วยระบบคอมพิวเตอร์และการทดสอบจริงภาคสนาม ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณและพัฒนาเทคโนโลยีขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงกระบวนการออกแบบให้รองรับรูปทรงแอโรไดนามิกตามหลักอากาศพลศาสตร์ กระบวนการผลิตชิ้นส่วนทนทานต่อความร้อนในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสำคัญต่อเทคโนโลยีป้องกันประเทศของสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร
ที่มาของข้อมูล newatlas.com
ที่มาของรูปภาพ raytheonmissilesanddefense.com
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67