ทีมนักวิทย์พบวิธีผลิตก๊าซออกซิเจนบนดาวอังคาร
ทีมนักวิทยาศาสตร์ค้นพบวิธีผลิตก๊าซออกซิเจนจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ งานวิจัยนี้อาจเปลี่ยนดาวอังคารให้เป็นสถานที่ที่สิ่งมีชีวิตจากโลกสามารถอาศัยอยู่ได้ และอาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน
ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากมหาวิทยาลัยลิสบอน (University of Lisbon), สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology), มหาวิทยาลัยซอร์บอน (Sorbonne University), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไอนด์โฮเวน (Eindhoven University of Technology) และสถาบันดัตช์เพื่อการวิจัยพลังงานขั้นพื้นฐาน (Dutch Institute for Fundamental Energy Research) ได้ตีพิมพ์งานวิจัยชื่อ “พลาสมาสำหรับการใช้ทรัพยากรในแหล่งกำเนิดบนดาวอังคาร” ลงบนวารสารเอไอพี พับลิชชิ่ง (AIP Publishing) ซึ่งเป็นวารสารสำหรับงานวิจัยด้านฟิสิกส์
รายงานวิจัยนำเสนอวิธีผลิตก๊าซออกซิเจนจากชั้นบรรยากาศของดาวอังคารด้วยพลาสมา ซึ่งพลาสมาในทางฟิสิกส์นั้นหมายถึงเป็นสภาวะธรรมชาติลำดับที่สี่ของสสาร และประกอบด้วยอนุภาคที่มีประจุอิสระ เช่น อิเล็กตรอนและไอออน โดยนักวิจัยได้ใช้เครื่องให้กำเนิดพลาสมาในการทดลอง เพื่อไปกระทำกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อแยกออกซิเจนออกจากคาร์บอน จึงทำให้ได้ C และ O2 ซึ่ง O2 ก็คือก๊าซออกซิเจน
โดยวิธีการดังกล่าวจะใช้ได้ผลดีในทางทฤษฎีกับชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร เนื่องจากชั้นบรรยากาศของดาวอังคารประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 96 เปอร์เซ็นต์, อาร์กอน 1.93 เปอร์เซ็นต์ และไนโตรเจน 1.89 เปอร์เซ็นต์ ร่วมไปกับออกซิเจนและน้ำในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น หมายความว่าบนดาวอังคารมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากพอให้ผลิตออกซิเจน
สำหรับออกซิเจนที่ได้จะมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตบนดาวอังคาร ให้สิ่งมีชีวิตจากบนโลก เช่น มนุษย์, พืช และสัตว์สามารถหายใจอยู่ได้บนดาวอังคาร นอกจากนี้ ยังจะเป็นสารพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการแปรรูปเชื้อเพลิง, วัสดุก่อสร้าง, ปุ๋ย และอื่น ๆ
ไม่เพียงเท่านั้น วิธีการดังกล่าวอาจสามารถนำมาใช้รีไซเคิลก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนโลกได้ด้วย เพื่อลดปัญหาโลกที่กำลังเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศอย่างต่อเนื่อง อันเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน
ข้อมูลจาก aip.scitation.org
ภาพจาก www.openaccessgovernment.org
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67