TNN เปิดตัวหุ่นยนต์ทหารสำหรับภารกิจช่วยแนวหลังในกองทัพสหรัฐอเมริกา

TNN

Tech

เปิดตัวหุ่นยนต์ทหารสำหรับภารกิจช่วยแนวหลังในกองทัพสหรัฐอเมริกา

เปิดตัวหุ่นยนต์ทหารสำหรับภารกิจช่วยแนวหลังในกองทัพสหรัฐอเมริกา

บริษัทอาวุธในสหรัฐฯ ประกาศชนะประมูลโครงการสร้างหุ่นยนต์ผู้ช่วยในแนวหลังการรบแบบไร้คนขับสำหรับกองทัพ

การรบหรือการปฏิบัติการทางการทหารใด ๆ ก็ตามจำเป็นจะต้องมีการขนส่งยุทโธปกรณ์และกำลังบำรุงให้ทหารในแนวรบอยู่เสมอ แต่ปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือ สถานการณ์การทำงานจริงที่ทหารไม่สามารถส่งกำลังบำรุงสนับสนุนการรบได้เนื่องจากมีความเสี่ยงภัยที่สูงเกินไป ดังนั้น กองทัพสหรัฐอเมริกาจึงมีนโยบายที่จะใช้หุ่นยนต์เพื่อเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ และบริษัทสตราทอม (Stratom) ผู้เชี่ยวชาญด้านพาหนะไร้คนขับก็ได้รับสิทธิ์ในการร่วมพัฒนาหุ่นยนต์แบบใหม่ขึ้นมา


สตราทอม (Stratom) ก่อตั้งในปี 2001 มีฐานการผลิตในรัฐโคโลราโด เชี่ยวชาญในด้านการสร้างพาหนะภาคพื้นดินแบบไร้คนขับ (Unmanned Ground Vehicle: UGV) สำหรับการปฏิบัติการทางการทหาร มีผลงานร่วมกันกับกองทัพและหน่วยนาวิกโยธินของสหรัฐอเมริกามาก่อนหน้านี้ในด้านการสร้างหุ่นยนต์และระบบไร้คนขับ (Autonomous Vehicle)


หุ่นยนต์แบบใหม่ที่บริษัทจะพัฒนาร่วมกับกองทัพคือยานเกราะหุ่นยนต์ทางยุทธวิธีแบบเบา (Robotic Combat Vehicle-Light: RCV-L) โดยสตราทอม (Stratom) จะใช้เทคโนโลยีความปลอดภัยรอบพื้นที่ยานพาหนะไร้คนขับ (Perimeter Safety for Autonomous Vehicle: P-SAV) ที่ทำงานด้วยเซ็นเซอร์รอบคัน ผสานเข้ากับระบบเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Machine Learning) สำหรับการเคลื่อนตัวไปยังจุดที่กำหนด การหลบหลีกสิ่งกีดขวาง ทำความเข้าใจสภาพภูมิประเทศและตรวจจับวัตถุรอบตัวรถ ด้วยคอมพิวเตอร์ระดับทางการทหารภายในตัวรถและโปรแกรมประมวลภาพ (Image Processing Software) ขั้นสูง ส่วนภายนอกจะได้รับการออกแบบให้สามารถปฏิบัติงานได้ในทุกสภาพอากาศ 


หุ่นยนต์แบบใหม่หรือ RCV-L จะถูกพัฒนาด้วยพื้นฐานจากนวัตกรรมเฉพาะของสตราทอม (Stratom) ที่มีชื่อว่า XR-FAAR (eXpeditionary Robotic-Field Artillery Autonomus Resupply) หุ่นยนต์ RCV รุ่นล่าสุดของบริษัทที่ใช้สำหรับทำหน้าที่ขนส่งกระสุนปืนใหญ่ให้กับหน่วยยานเกราะ ซึ่งจะใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาระบบ P-SAV ขึ้นมาให้เหนือกว่าระบบเดิม จากนั้นจะทำการทดสอบเพื่อดูความเข้ากันได้กับ RCV-L ตัวใหม่ต่อไป โดยคาดว่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับ XR-FAAR แต่มีระบบการป้องกันตัวเองแบบ 360 องศา เพื่อการใช้งานในสถานการณ์ที่เสี่ยงภัยมากขึ้น


การพัฒนาในครั้งนี้จะช่วยให้กองทัพลดความเสี่ยงการสูญเสียกำลังพลจากการปฏิบัติงาน รวมถึงสามารถประยุกต์ใช้เข้ากันกับการตรวจการณ์เบื้องต้นที่รวมถึงการระบุตัวตนข้าศึกได้อีกด้วย โดยทางบริษัทสตราทอม (Stratom) มองว่าการพัฒนา RCV-L แบบใหม่จะสามารถต่อยอดไปใช้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างการทำเหมืองแร่ หรือแม้แต่ไซต์งานก่อสร้างที่มีความเสี่ยงได้ด้วยเช่นกัน




ที่มาข้อมูล Defence-Blog

ที่มารูปภาพ Stratom


ข่าวแนะนำ