Artemis Program เมื่อมนุษยชาติจะกลับไปเยือนดวงจันทร์ในรอบ 50 ปี
โครงการอาร์เทมิส โครงการที่จะพามนุษยชาติกลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้งในรอบ 50 ปี หลังจากที่ไม่มีมนุษย์คนใดได้ไปเหยียบดวงจันทร์อีกเลยนับตั้งแต่สิ้นสุดโครงการอะพอลโล
“เราเลือกที่จะไปดวงจันทร์ในทศวรรษนี้และทำสิ่งอื่นต่อไป ไม่ใช่เพราะมันง่าย แต่เพราะว่ามันยาก
We choose to go to the moon in this decade and do the other things, not because they are easy, but because they are hard.”
สุนทรพจน์อันเลื่องชื่อโดยประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี (John F. Kennedy) ในวันที่ 25 พฤษภาคม 1961 เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการอะพอลโล (Apollo Program) โดยโครงการนี้ถูกตั้งชื่อตามเทพเจ้ากรีก มีความหมายถึงแสงสว่างและความสำเร็จ
โครงการอะพอลโลสิ้นสุดที่ภารกิจอะพอลโล 17 (Apollo 17) ในปี 1972 เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงมาก มีค่าใช้จ่ายตลอดโครงการประมาณ 25.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 9.15 แสนล้านบาท ซึ่งในเวลานั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการนำงบประมาณไปทุ่มกับอย่างอื่นบ้าง
เวลาผ่านไปกว่า 50 ปี ไม่มีมนุษย์คนใดได้ไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์อีกเลย นอกจากนักบินอวกาศจำนวน 12 คน ของโครงการอะพอลโล จนกระทั่งนาซา (NASA) ได้รับอนุมัติให้ก่อตั้งโครงการที่ชื่อว่าอาร์เทมิส (Artemis Program) ขึ้นมา โดยตั้งชื่อตามเทพอาร์เทมิส น้องสาวฝาแฝดของเทพอะพอลโล เพื่อพามนุษยชาติกลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูรายชื่อนักบินอวกาศทั้ง 12 คน ที่เคยไปเหยียบบนดวงจันทร์ รวมถึงนักบินอวกาศคนอื่น ๆ ในโครงการด้วย ทุกคนล้วนเป็นชายผิวขาวชาวอเมริกัน เนื่องจากในยุคสมัยนั้นยังมีการแบ่งแยกเรื่องสีผิวอย่างชัดเจน เช่น การแบ่งห้องน้ำระหว่างคนผิวสีและคนผิวขาว เป็นต้น อีกทั้งความตระหนักเรื่องความเท่าเทียมทางเพศยังมีไม่มากนัก ในขณะที่โครงการอาร์เทมิสถือกำเนิดขึ้นมาในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่ความเท่าเทียมทางเพศและสีผิวได้รับการตระหนักถึงเป็นอย่างมากแล้ว โครงการอาร์เทมิสจึงตั้งใจจะส่งนักบินอวกาศผิวสีและนักบินอวกาศหญิงคนแรกขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์
จุดประสงค์ที่แตกต่างตามยุคสมัย
จุดประสงค์ของโครงการอะพอลโลเป็นการไปเพื่อแสดงให้ชาติอื่นเห็นว่านี่คือสิ่งที่สหรัฐฯ สามารถทำได้ เนื่องจากในเวลานั้นเป็นยุคของสงครามเย็น ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ไม่นาน ทำให้มีความตึงเครียดด้านการเมืองระหว่างประเทศสูง ชาติมหาอำนาจหันมาแข่งขันการพัฒนาเทคโนโลยีแทนการทำสงครามโดยตรง หนึ่งในนั้นคือการแข่งขันด้านอวกาศ (Space Race) ระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียต
แต่จุดประสงค์ของโครงการอาร์เทมิสนั้นแตกต่างออกไป แบ่งออกเป็น 3 อย่าง หลัก ๆ ได้แก่
1. เพื่อการค้นพบ จากประสบการณ์ด้านการสำรวจอวกาศกว่า 5 ทศวรรษ นาซาเชื่อว่าการต่อยอดในครั้งนี้จะสร้างโอกาศในการค้นพบสิ่งใหม่
2. เพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีซัพพลายเออร์มากกว่า 3,200 ราย จาก 50 รัฐ ทั่วสหรัฐอเมริกาที่มีส่วนร่วมในโครงการอาร์เทมิส
3. เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ การดำเนินโครงการอาร์เทมิสที่มีทั้งความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ และภาคเอกชนทั่วทั้งประเทศ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้อวกาศและวิทยาศาสตร์ไปยังคนรุ่นใหม่ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
โดยจรวดที่จะใช้ในโครงการอาร์เทมิสก็คือจรวดเอสแอลเอส (SLS หรือ Space Launch System) ซึ่งได้รับการขนานนามให้เป็นจรวดที่ทรงพลังที่สุดในโลก ด้วยขีดความสามารถในการบรรทุกน้ำหนัก, ปริมาตร และพลังงานที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นจรวดที่ถูกออกแบบมาให้สามารถต่อเติมได้ จึงทำให้สามารถใช้ขนส่งในภารกิจหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ภารกิจไปดวงจันทร์จนถึงภารกิจไปดาวพฤหัสบดี
ส่วนยานอวกาศที่จะใช้ในโครงการอาร์เทมิสคู่กับจรวดเอสแอลเอสก็คือ ยานอวกาศโอไรออน (Orion) ยานอวกาศที่ออกแบบโดยนาซา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้ในภารกิจสำรวจอวกาศลึก ซึ่งยานอวกาศโอไรออนสามารถรองรับนักบินอวกาศได้ 4 คน มีแผงกันความร้อนที่สามารถกันความร้อนได้มากถึง 5,000 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 2,700 องศาเซลเซียส เครื่องยนต์หลักมีแรงขับอยู่ที่ 6,000 ปอนด์ หรือ 2,722 กิโลกรัม
ด้วยประสิทธิภาพของจรวดเอสแอลเอสจะทำให้ยานอวกาศโอไรออนบรรลุความเร็วที่ 24,500 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือราว ๆ 39,400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อันเป็นความเร็วที่จำเป็นในการส่งยานอวกาศไปให้ถึงดวงจันทร์
โดยโครงการอาร์เทมิสจะแบ่งภารกิจออกเป็น 3 ภารกิจ หลักด้วยกัน นั่นก็คือ อาร์เทมิส 1 (Artemis 1), อาร์เทมิส 2 (Artemis 2) และอาร์เทมิส 3 (Artemis 3)
ในภารกิจอาร์เทมิส 1 จะเป็นการทดสอบการทำงานของจรวดเอสแอลเอสและยานอวกาศโอไรออน อีกทั้งยังเป็นการทดสอบระบบควบคุมภาคพื้นดิน (Ground Station System) ที่พึ่งได้รับการอัปเกรดใหม่ โดยจะดูการทำงานของยานอวกาศโอไรออนตั้งแต่กระบวนการแยกตัวออกจากจรวดเอสแอลเอส ไปจนถึงกระบวนการลงจอดในมหาสมุทรเมื่อกลับมาถึงพื้นโลก นอกจากนี้จรวดเอสแอลเอสจะบรรทุกดาวเทียมขนาดเล็กไปด้วยจำนวน 10 ดวง เพื่อดำเนินการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของตัวมันเอง
แต่ก่อนจะไปต่อกันที่ภารกิจอาร์เทมิส 2 จะมีการส่งโมดูลตั้งต้นของเกตเวย์ (Gateway) ได้แก่ โมดูลพลังงานและแรงขับดัน (Power and Propulsion Element หรือ PPE) และโมดูลสำหรับที่อยู่อาศัยและโลจิสติกส์ (Habitation and Logistics Outpost หรือ HALO) ขึ้นไปโคจรในวงโคจรรอบดวงจันทร์ก่อน ภายในเดือนพฤษภาคม 2024 ด้วยจรวดฟัลคอน เฮฟวี (Falcon Heavy) ณ ลานปล่อยคอมเพล็กซ์ 39เอ (Launch Complex 39A) ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ในรัฐฟลอริดา โดยนาซาได้คัดเลือกให้บริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เป็นผู้รับเหมาในครั้งนี้ ซึ่งใช้ทุนที่ประมาณ 331.8 ล้านดอลลาร์ หรือราว ๆ 11,800 ล้านบาท
และในอนาคตจะมีการส่งโมดูลอื่น ๆ จากหน่วยงานอวกาศยุโรป (ESA), หน่วยงานอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) และอื่น ๆ ขึ้นไปเชื่อมต่อกับทั้ง 2 โมดูล ข้างต้นเพิ่มอีก เพื่อให้เกตเวย์อยู่ภายใต้ความร่วมมือของนานาชาติ คล้ายกับสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) สำหรับเป็นฐานและจุดแวะของนักบินอวกาศที่จะเดินทางไปยังดวงจันทร์และสถานที่อื่น ๆ ในอวกาศที่ไกลออกไป
หลังจากนั้นในภารกิจอาร์เทมิส 2 จะมีการส่งนักบินอวกาศจำนวน 4 คน ไปกับยานอวกาศโอไรออนด้วย เพื่อทำการทดสอบระบบต่าง ๆ ที่ต้องใช้กับนักบินอวกาศ เช่น ระบบสื่อสาร เป็นต้น โดยหลังจากจรวดเอสแอลเอสทำการส่งแรงขับให้กับยานอวกาศโอไรออนแล้ว ยานอวกาศโอไรออนจะวนรอบโลก 2 รอบ ก่อนจะทะยานไปสู่ดวงจันทร์และทำการบินรอบดวงจันทร์เป็นรูปวงรีจำนวน 1 รอบ ก่อนจะเดินทางกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก
ภารกิจอาร์เทมิส 3 จะมีการส่งนักบินอวกาศจำนวน 4 คน ไปยังดวงจันทร์อีกครั้ง แต่ในครั้งนี้เราจะลงจอด ! เพื่อสร้างประวัติศาสตร์มนุษย์เพศชายคนต่อไปและมนุษย์เพศหญิงคนแรกที่ได้เหยียบลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ โดยจะใช้ตัวเกตเวย์เป็นจุดสลับไปใช้ยานสตาร์ชิป เฮทแอลเอส (Starship HLS) ซึ่งเป็นยานลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่พัฒนาโดยบริษัท สเปซเอ็กซ์ โดยเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจบนพื้นผิวดวงจันทร์ นักบินอวกาศจะใช้ยานสตาร์ชิป เฮทแอลเอสบินขึ้นสู่เกตเวย์ในวงโคจรรอบดวงจันทร์ และเปลี่ยนมาใช้ยานอวกาศโอไรออนอีกครั้ง ในการเดินทางกลับสู่โลก
นอกเหนือจากภารกิจอาร์เทมิสทั้ง 3 ภารกิจ และเกตเวย์แล้ว นาซายังมีแผนสร้างฐานอาร์เทมิส (Artemis Base Camp) ซึ่งจะประกอบไปด้วยยานพาหนะสำหรับภูมิประเทศบนดวงจันทร์, ส่วนที่อยู่อาศัยที่สามารถเคลื่อนที่ได้ และกระท่อมอยู่อาศัยแบบโมเดิร์น เพื่อให้นักบินอวกาศที่ถูกส่งไปศึกษาพื้นผิวดวงจันทร์สามารถอยู่บนดวงจันทร์ได้ยาวต่อเนื่องอย่างน้อย 2-3 เดือน สำหรับการอยู่อาศัยและทำงาน โดยตัวฐานอาร์เทมิสจะตั้งอยู่ที่ขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ เนื่องจากเป็นจุดที่สามารถเข้าถึงน้ำแข็งและทรัพยากรแร่อื่น ๆ ได้
นอกจากนี้ นาซายังมีแผนใช้จรวดดราก้อน เอ็กซ์แอล (Dragon XL) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ สำหรับส่งทรัพยากรเพื่อการดำรงชีพและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปยังเกตเวย์ การกลับไปเยือนดวงจันทร์ครั้งนี้จะกลายเป็นการวางรากฐานให้มนุษย์สามารถอยู่ในอวกาศได้นานขึ้น เดินทางในอวกาศได้ไกลขึ้น โดยเป้าหมายหลังจากนี้ที่เราจะไปก็คือดาวอังคาร
ข้อมูลและภาพจาก www.nasa.gov
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67