TNN “Sandi” โถสุขภัณฑ์ใช้ทรายแทนน้ำ แก้ปัญหาห้องน้ำในที่แล้ง

TNN

Tech

“Sandi” โถสุขภัณฑ์ใช้ทรายแทนน้ำ แก้ปัญหาห้องน้ำในที่แล้ง

“Sandi” โถสุขภัณฑ์ใช้ทรายแทนน้ำ แก้ปัญหาห้องน้ำในที่แล้ง

หลายพื้นที่ในโลกตอนนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำใช้ ดังนั้นการจะใช้งานโถสุขภัณฑ์แต่ละทีก็อาจจะสิ้นเปลืองน้ำไม่น้อย แต่ล่าสุดมีคนไอเดียดี คิดค้นโถสุขภัณฑ์ที่ใช้ทรายชำระแทน แถมยังสามารถสร้างได้ในราคาประหยัด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้หลายพื้นที่บนโลกอาจจะยังไม่ได้มีห้องน้ำดี ๆ ใช้ โดยเฉพาะชนบทที่ห่างไกลหรือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ เพื่อแก้ปัญหานี้นักออกแบบจากมหาวิทยาลัยในอังกฤษ จึงได้เสนอแนวคิด ซานดิ โถสุขภัณฑ์ที่ใช้ทรายชำระแทนน้ำ และยังสามารถสร้างได้ง่าย เหมาะกับการใช้งานในทุกที่


“Sandi” โถสุขภัณฑ์ใช้ทรายแทนน้ำ แก้ปัญหาห้องน้ำในที่แล้ง ภาพจาก Yankodesign

 


โครงสร้างของ ซานติ (Sandi) นั้น ดูภายนอกก็คล้ายกับโถสุขภัณฑ์ทั่วไป แต่ประกอบด้วยสามส่วนหลัก นั่นคือ ระบบการล้างด้วยกลไกการหมุน ทดแทนการใช้กระแสไฟฟ้า สายพานลำเลียงเพื่อเคลื่อนย้ายของเสีย แทนการใช้น้ำประปา และตัวแบ่งโซนที่วางในโถ เพื่อแยกน้ำเสียและของเสียออกจากกัน 


สำหรับวิธีการใช้งาน เพียงเติมทราย หรือ ขี้เลื่อย ลงไปในถังกักเก็บ เมื่อขับถ่ายเสร็จ ก็สามารถหมุนให้ทรายและเสียตกลงไปในที่รองรับด้านล่าง โดยผู้พัฒนาประมาณว่าหากใช้ในบ้านที่มีสมาชิก 7 คน ก็อาจจะต้องเปลี่ยนที่เก็บของเสียในทุก ๆ 2-4 วัน โดยของเสียเหล่านี้สามารถแปลงไปเป็นปุ๋ยต่อได้อีกด้วย


“Sandi” โถสุขภัณฑ์ใช้ทรายแทนน้ำ แก้ปัญหาห้องน้ำในที่แล้ง ภาพจาก Yankodesign

 


สำหรับผลงานนี้ ออกแบบและพัฒนาโดย อาร์ชี รี้ด (Archie Read) จากมหาวิทยาลัยบรูเนล (Brunel University) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยเขาได้แนวคิดมาจากการทำงานให้กับ บริษัทห้องน้ำชื่อ ลูวัตต์ (LooWatt) ซึ่งพัฒนาระบบห้องน้ำที่เก็บของเสียในฟิล์มโพลีเมอร์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ


โดย อาร์ชี ตั้งเป้าว่าจะจำหน่ายโถสุขภัณฑ์ของเขาในราคาเพียง 74 ดอลลาร์ หรือประมาณ 2,600 บาทเท่านั้น เนื่องจากอยากให้มันเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน มากกว่าการใช้งานแบบหรูหรา ที่สำคัญมันยังไม่จำเป็นต้องใช้พลังงาน ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมากมาย และดูแลซ่อมแซมได้ง่าย จึงประหยัดต้นทุนและค่าดูแลรักษาได้มาก 


“Sandi” โถสุขภัณฑ์ใช้ทรายแทนน้ำ แก้ปัญหาห้องน้ำในที่แล้ง ภาพจาก Yankodesign

 


และถึงแม้ว่าตอนนี้ ซานดิ จะยังเป็นเพียงแค่ตัวต้นแบบแรก ๆ แต่หากนำมาต่อยอดใช้งานจริง ก็อาจจะช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ทุรกันดารได้ อีกทั้งยังสามารถใช้แก้ปัญหาชั่วคราว เช่นการใช้งานในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ภัยพิบัติ ได้อีกด้วย



ขอบคุณข้อมูลจาก

designboom

yankodesign

ข่าวแนะนำ