TNN เปิดตัว TransPod FluxJet ไฮเปอร์ลูปความเร็ว 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

TNN

Tech

เปิดตัว TransPod FluxJet ไฮเปอร์ลูปความเร็ว 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เปิดตัว TransPod FluxJet ไฮเปอร์ลูปความเร็ว 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

บริษัททรานส์พ็อด (Transpod) ในประเทศแคนาดา เปิดตัว TransPod FluxJet เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปตั้งเป้าทำความเร็วสูงสุด 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ระบบการขนส่งสาธารณะความเร็วเหนือเสียงด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าภายในท่อสุญญากาศยุคใหม่ถูกนำเสนอครั้งแรกโดยอีลอน มัสก์และทีมงานวิศวกรในบริษัทสเปซเอ็ก (SpaceX) โดยได้จัดทำเอกสารเผยแพร่แบบไม่คิดมูลค่าเพื่อให้บริษัทนำไปพัฒนาต่อ ปัจจุบันมีหลายบริษัทกำลังพัฒนาเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป เช่น บริษัท เวอร์จิ้น ไฮเปอร์ลูป (Virgin Hyperloop) และล่าสุดก็มีทรานส์พ็อด (Transpod) คู่แข่งรายใหม่จากแคนาดาที่เปิดตัวทรานส์พ็อด ฟลักซ์เจ็ท (Transpod Fluxjet) พร้อมทั้งยังเตรียมแผนก่อสร้างเพื่อทดลองระบบเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


ทรานส์พ็อด (Transpod) ชูจุดเด่นทรานส์พ็อด ฟลักซ์เจ็ท (Transpod Fluxjet) ว่าเป็นระบบขนส่งแบบใหม่ที่ทั้งน่าตื่นตา น่าประทับใจ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่มีพื้นฐานมาจากระบบแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic) ซึ่งเรียกว่าเวลแลนซ์ ฟลักซ์ (Veillance Flux) 


เวลแลนซ์ ฟลักซ์ (Veillance Flux) เป็นระบบขับเคลื่อนที่มีองค์ประกอบอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกคือระบบขับดันตัวตู้โดยสาร (Pod) ซึ่งมีพื้นฐานมาจากระบบแม็กเลฟ (Mag-lev) หรือระบบที่มีตัวสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic) เพื่อทำหน้าที่ยกตัวตู้โดยสารให้สูงเหนือรางแม่เหล็กไฟฟ้า และขับดันตัวตู้โดยสารไปข้างหน้า โดยขับเคลื่อนขบวนทั้งหมดในท่อที่ถูกทำให้มีสภาพใกล้เคียงกับสุญญากาศมากที่สุด ซึ่งทำให้ภายในท่อจะเสมือนไม่มีแรงเสียดทานจากอากาศ ซึ่งทำให้ทรานส์พ็อด ฟลักซ์เจ็ท (Transpod Fluxjet) สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยความเร็วสูงโดยที่ไม่ต้องมีแรงขับเคลื่อนมหาศาล


ระบบทรานส์พ็อด ฟลักซ์เจ็ท (Transpod Fluxjet) มีตู้โดยสารในรูปทรงคล้ายกระสวยขนาดเล็ก (Pod) ความยาว 25 เมตร ขับเคลื่อนด้วยความเร็วไม่เกิน 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขณะอยู่ในเมือง ก่อนจะทำความเร็วใช้งานจริงที่ 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถทำความเร็วสูงสุด 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในห้องโดยสารจะสามารถจุผู้โดยสารได้สูงสุด 54 ที่นั่ง ออกแบบเบื้องต้นให้ที่นั่งผู้โดยสารมีความหรูหรา พร้อมระบบอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งควบคุมสั่งการผ่านหน้าจอระบบสัมผัส ให้ประสบการณ์การเดินทางคล้ายคลึงกับการนั่งโดยสารบนเครื่องบิน


ในขณะนี้บริษัทได้ระดุมทุนได้มากกว่า 19,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมก่อสร้างเส้นทางทดสอบแรกระหว่างเมืองคาลการี (Calgary) และเมืองเอดมันตัน (Edmonton) เป็นระยะทาง 300 กิโลเมตร (ใกล้เคียงกับการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดประจวบคีรีขันธ์) ใช้เวลาเดินทาง 45 นาที น้อยกว่าการเดินทางโดยรถยนต์ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ซึ่งเบื้องต้นจะมีต้นทุนการก่อสร้างกิโลเมตรละประมาณ 2,100 ล้านบาท กำหนดค่าโดยสารไว้ที่ประมาณ 2,700 บาท (75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ) และบริษัทคาดหวังว่าหากประสบความสำเร็จ การเดินทางแบบใหม่นี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าปีละ 630,000 ตัน






ที่มาข้อมูล New Atlas

ที่มารูปภาพ Transpod

ข่าวแนะนำ