TNN Neuralink เตรียมทดสอบชิปฝังสมองในมนุษย์

TNN

Tech

Neuralink เตรียมทดสอบชิปฝังสมองในมนุษย์

Neuralink เตรียมทดสอบชิปฝังสมองในมนุษย์

นิวรัลลิงก์เตรียมทดสอบชิปฝังสมองในมนุษย์ หลังจากประสบความสำเร็จในการทดลองในหมูและลิง แม้ต้องรอการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาก่อน

นิวรัลลิงก์ (Neuralink) บริษัทที่ก่อตั้งโดยอีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน เพื่อสร้างและพัฒนาอุปกรณ์ฝังสมอง หรือ Implantable brain–machine interfaces (BMIs) เรียกอีกอย่างง่าย ๆ ว่า ชิปฝังสมอง โดยตั้งเป้าหมายให้อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถรักษาโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานในสมอง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพการทำงานของสมองมนุษย์ด้วย


สำหรับชิปฝังสมองของนิวรัลลิงก์นั้น เริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2016 และมีการเปิดเผยโมเดลโดยอีลอน มัสก์ ซึ่งมีลักษณะเป็นอุปกรณ์ที่ซ่อนอยู่บริเวณหลังหู แล้วโยงสายอิเล็กโทรดผ่านกะโหลกเข้าไปยังสมอง อย่างไรก็ตามลักษณะของมันยังห่างไกลกับคำว่าชิปอยู่มากพอสมควร


จนกระทั่งในปี 2020 ทางบริษัทได้ปรับปรุงชิปขึ้นมาใหม่ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นชิปขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 23 มิลลิเมตร และมีความหนา 8 มิลลิเมตร ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นสายรับ-ส่งข้อมูล ซึ่งภายในประกอบด้วยเส้นอิเล็กโทรดจำนวนมาก โดยแต่ละเส้นมีความบางกว่าเส้นผมของมนุษย์ และจะทำการฝังไว้ในกะโหลกแทนการติดไว้หลังหู อีกทั้งกระบวนการฝังชิปจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น

Neuralink เตรียมทดสอบชิปฝังสมองในมนุษย์

ตัวชิปทำงานโดยการบันทึกและการถอดรหัสสัญญาณไฟฟ้าจากเซลล์สมอง โดยอาศัยขั้วไฟฟ้ากว่า 2,000 ขั้วในคอร์เท็กซ์ (Cortex) เพื่อสั่งการ


โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางบริษัทได้มีการทดลองใช้ชิปฝังสมองกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นั่นก็คือหมูและลิง ยกตัวอย่างในกรณีของลิงที่ทางบริษัทได้ปล่อยคลิปวิดีโอขณะทำการทดลองออกมา ในช่วงแรกนั้นเจ้าหน้าที่ได้สอนและฝึกลิงให้ใช้จอยสติ๊กบังคับเกมบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ หลังจากนั้น มีการถอดปลั๊กของจอยสติ๊กออก ลิงตัวดังกล่าวก็ยังสามารถใช้ความคิด ควบคุมและเล่นเกมได้อย่างชำนาญ

Neuralink เตรียมทดสอบชิปฝังสมองในมนุษย์

ทำให้ตอนนี้ทางบริษัทพร้อมแล้วสำหรับขั้นตอนต่อไป นั่นก็คือการทดลองในมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ชิปของทางบริษัทจะต้องได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ เสียก่อน แต่นิวรัลลิงก์ก็ไม่ใช่บริษัทแรกที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ เนื่องจากในปี 2019 ได้มีการรับรองอุปกรณ์ชื่อดิ สเตนโทรด (The stentrode) ของบริษัทซิงค์ครอน (Syncron) ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งไปก่อน


ข้อมูลจาก Neuralink Update

ภาพจาก Neuralink

ข่าวแนะนำ