TNN เปิดตัวเครื่องบินเจ็ทแบบใหม่ บินได้เร็ว 2 เท่า เทียบกับเครื่องบินแบบเดิม

TNN

Tech

เปิดตัวเครื่องบินเจ็ทแบบใหม่ บินได้เร็ว 2 เท่า เทียบกับเครื่องบินแบบเดิม

เปิดตัวเครื่องบินเจ็ทแบบใหม่ บินได้เร็ว 2 เท่า เทียบกับเครื่องบินแบบเดิม

สตาร์ตอัปสหรัฐฯ เปิดตัวเครื่องซูเปอร์โซนิก (Supersonic) ความเร็ว 1.7 มัค บินจากโตเกียวไปนิวยอร์กได้ภายใน 3.5 ชั่วโมง พร้อมบินเที่ยวแรกในอีก 7 ปี

เที่ยวบินระยะไกลแบบบินตรงมีจุดเด่นที่ไม่ต้องแวะสนามบินเพื่อเติมน้ำมัน แต่อย่างไรก็ตาม ราคาตั๋วเครื่องบินแบบนี้จะสูงมากเมื่อเทียบกับเส้นทางปกติ เพราะต้องใช้เชื้อเพลิงและระยะเวลาที่นาน อีกทั้งยังรองรับผู้โดยสารได้น้อยมากเมื่อเทียบกับเที่ยวบินทั่วไป ซึ่งปัญหานี้จะถูกเติมเต็มด้วยทางเลือกใหม่ที่มีชื่อว่าโอเวอร์เจอร์ (Overture) เครื่องบินความเร็วเหนือเสียง 1.7 มัค ที่ดีไซน์ล้ำและมีสายการบินจองซื้อตั้งแต่ยังพัฒนาไม่เสร็จ


บูม เทคโนโลยี (Boom Technology) เป็นบริษัทอากาศยานสตาร์ตอัปที่มีฐานการผลิตในเมืองเดนเวอร์ (Denver) รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2016 โดยได้เริ่มพัฒนาเครื่องบินเจ็ทความเร็วเหนือเสียง (Supersonic) มาตั้งแต่ปี 2019 และมีการปรับปรุงดีไซน์จนเปิดตัวดีไซน์ใหม่ล่าสุดเมื่อ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภายในงานฟาร์นโบโรห์ อินเตอร์แนชั่นแนล แอร์ โชว์ (Farnborough International Airshow) ประจำปี 2022 ณ เมืองฟาร์นโบโรห์ (Farnborough) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแฮมป์เชียร์ (Hampshire) สหราชอาณาจักร


โอเวอร์เจอร์ (Overture) ดีไซน์ใหม่ล่าสุดจะมีความยาวทั้งลำที่ประมาณ 60 เมตร  ใช้เครื่องยนต์ทั้งหมด 4 ตัว โดยติดตั้งที่ด้านหลังปีกขนาดใหญ่ที่รูปทรงคล้ายปีกนกนางนวล ช่วงปีกกว้างประมาณ 32 เมตร ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดสำหรับอากาศยาน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ซึ่งไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำความเร็วสูงสุดที่ 1.7 มัค หรือประมาณ 2,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่จะให้เสียงเครื่องยนต์ที่เงียบกว่า ซึ่งส่งผลให้ตัวเครื่องไม่ถูกจำกัดการบินผ่านเขตประชากรหนาแน่นตามกฎการบินสากล โดยรองรับผู้โดยสารสูงสุดได้ 80 คน และเมื่อจุผู้โดยสารเต็มพิกัดจะสามารถเดินทางได้เป็นระยะทางไกลสุดที่ 4,250 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 7,870 กิโลเมตร 


ขั้นตอนที่สำคัญในตอนนี้คือการทดสอบการบินในห้องปฏิบัติการเพื่อเริ่มกระบวนการผลิตอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่การทดสอบการบินจำลองด้วยโปรแกรม (Simulated Flight) อย่างน้อย 25 ครั้ง รวมถึงการทดสอบในอุโมงค์ลม (Wind Tunnel) เพื่อทดสอบอากาศพลศาสตร์ (Aerodynamics) ของตัวเครื่องบินอีก 5 ครั้ง และเสริมด้วยการทดสอบการบินภาคปฏิบัติอย่างน้อยอีก 51 ครั้ง


ในขณะนี้มีสายการบินที่สนใจสั่งซื้อเครื่องบินโอเวอร์เจอร์ (Overture) ไปแล้ว 2 สายการบิน ได้แก่ สายการบินเจแปน (Japan Airlines) และสายการบินยูไนเต็ด (United Airlines) ซึ่งร่วมลงทุนกับบูม เทคโนโลยี (Boom Technology) ไปกว่า 3 พันล้านเหรียญ หรือมากกว่า 1 แสนล้านบาท ตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่วนหากการทดสอบและการยื่นขออนุญาตต่าง ๆ เสร็จสิ้น บูม เทคโนโลยี (Boom Technology) เชื่อว่าจะสามารถเปิดเที่ยวบินแรกได้ภายในปี 2029 หรืออีกไม่เกิน 7 ปี ต่อจากนี้






ที่มาข้อมูล Interesting Engineering

ที่มารูปภาพ Boom Supersonic

ข่าวแนะนำ