ดาวเทียมของ NASA ช่วยทำการศึกษาหมีขั้วโลกที่รอดชีวิตจากภาวะโลกร้อน
นักวิทยาศาสตร์พบการปรับตัวสู้ภาวะโลกร้อนของหมีขั้วโลกกลุ่มหนึ่งในกรีนแลนด์ โดยนักวิจัยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมของ NASA ในการศึกษานานกว่า 7 ปี
โดยปกติหมีขั้วโลกจะใช้แผ่นน้ำแข็งเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการล่าแมวน้ำ แต่เนื่องจากภาวะโลกร้อน (Climate Change) ส่งผลให้แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือเกิดการละลาย กล่าวแบบง่าย ๆ ก็คือ การที่น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือเกิดการละลายมากผิดปกติ ส่งผลต่อการหาอาหารของหมีขั้วโลก
ภาพด้านบนนี้ถูกถ่ายโดยช่างภาพชื่อคริสตีน แลงเอนเบอร์เกอร์ (Kerstin Langenberger) โดยจะเห็นได้ว่าหมีขั้วโลกตัวนี้มีลักษณะที่ผอมแห้งผิดปกติ
แต่นักวิจัยพบว่า ณ ฟยอร์ด (Fjord) อ่าวเล็ก ๆ บริเวณชายฝั่งทะเล ในกรีนแลนด์ตะวันออกเฉียงใต้ มีหมีขั้วโลกที่สามารถอยู่รอดได้ภายใต้ภาวะน้ำแข็งละลาย ซึ่งหมีขั้วโลกบริเวณนี้เป็นกลุ่มหมีที่แยกตัวออกมาจากหมีขั้วโลกกลุ่มหลักในอาร์กติกเมื่อหลายร้อยปีก่อน และยังมีลักษณะทางพันธุกรรมที่ต่างกันออกไป
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติ รวมทั้งจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) และศูนย์ข้อมูลและน้ำแข็งหิมะแห่งชาติ (National Snow Ice and Data Center หรือ NSIDC) ได้ทำการติดตามหมีกลุ่มดังกล่าวเป็นเวลา 7 ปี โดยใช้เครื่องมือการถ่ายภาพละเอียดปานกลาง (Moderate Resolution Imagine Spectroradiometer หรือ MODIS) จากดาวเทียมเทอร์รา (Terra) และดาวเทียมอควา (Aqua) และข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติ
หลังจากนั้นนำข้อมูลที่เก็บได้มารวมข้อมูลใหม่เข้ากับการวิเคราะห์ทางพันธุกรรม และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ตลอด 3 ทศวรรษของเกาะกรีนแลนด์ ชายฝั่งตะวันออก
การค้นพบของพวกเขาเปิดเผยว่าหมีกรีนแลนด์ตะวันออกเฉียงใต้ถูกตัดขาดจากน้ำแข็งในทะเลมา 2-3 ปี แล้ว โดยพวกมันได้หันมาใช้แผ่นน้ำแข็งน้ำจืด ซึ่งเป็นแผ่นน้ำแข็งที่แตกตัวมาจากแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์และธารน้ำแข็งชายฝั่ง เป็นจุดยุทธศาสตร์เสริมในการล่า และพวกมันยังเรียนรู้ที่จะเดินทางข้ามอ่าวด้วยการข้ามน้ำแข็งในแผ่นดินและเดินป่าข้ามภูเขา
งานวิจัยนี้ได้รับทุนจากโครงการความหลากหลายทางชีวภาพและการพยากรณ์เชิงนิเวศวิทยาและวิทยาศาสตร์เยือกแข็งของนาซา, มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา, รัฐบาลเดนมาร์ก รัฐบาลกรีนแลนด์, มหาวิทยาลัยวอชิงตัน, มหาวิทยาลัยออสโล, มูลนิธิลีโอโมเดลและมูลนิธิเวเทิลเซ่น
ข้อมูลและภาพจาก www.nasa.gov
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67