TNN สถานีชาร์จรถไฟฟ้าหลบไป ถึงเวลาชาร์จไฟรถจากท้องถนนแล้ว

TNN

Tech

สถานีชาร์จรถไฟฟ้าหลบไป ถึงเวลาชาร์จไฟรถจากท้องถนนแล้ว

สถานีชาร์จรถไฟฟ้าหลบไป ถึงเวลาชาร์จไฟรถจากท้องถนนแล้ว

Stellantis บริษัทผู้ผลิตยานยนต์ข้ามชาติ กำลังเริ่มต้นขั้นตอนการผลิตและทดสอบเทคโนโลยีส่งกำลังแบบไร้สายต่อเนื่อง ที่ติดตั้งบนถนน

สเตลแลนทิส (Stellantis) บริษัทผู้ผลิตยานยนต์ประเทศเนเธอร์แลนด์ กำลังเริ่มต้นขั้นตอนการผลิตและทดสอบเทคโนโลยีส่งกำลังแบบไร้สายต่อเนื่อง (Dynamic Wireless Power transfer - DWPT) เพื่อชาร์จไฟให้กับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบบไม่ต้องมีสายชาร์จ โดยรถจะถูกชาร์จขณะที่เดินทางผ่านช่องทางที่ติดตั้งอุปกรณ์พิเศษ 


เทคโนโลยี DWPT ใช้คอยล์ชาร์จ EV แบบไร้สายที่ฝังอยู่ใต้พื้นผิวถนน เพื่อให้ยานพาหนะแต่ละคันสามารถชาร์จได้ขณะรถวิ่ง และช่วยทำลายข้อจำกัดด้านระยะทางสำหรับผู้ซื้อรถไฟฟ้าที่กังวลเกี่ยวกับการเดินทางระยะไกล ทั้งนี้ เทคโนโลยีนี้สามารถปรับใช้กับรถยนต์ทุกคันที่มีตัวรับเฉพาะ ที่สามารถถ่ายโอนพลังงานจากพื้นผิวของถนนโดยตรงไปยังมอเตอร์ไฟฟ้า ขยายระยะการเดินทาง พร้อม ๆ กับช่วยลดการใช้แบตเตอรี่ลงได้ 


การทดสอบในครั้งนี้มีขึ้นที่สนาม “Arena del Futuro” ระยะทาง 1,050 เมตร ในเมืองชิอารี ประเทศอิตาลี โดยใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า Fiat New 500 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ (BEV) ขนาดเล็ก ที่ได้รับการปรับแต่งขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อทำการทดสอบ



 



การทดสอบพบว่า รถคันนี้สามารถเดินทางด้วยความเร็วทั่วไป โดยไม่ใช้พลังงานที่เก็บไว้ในแบตเตอรี่เลยแม้แต่น้อย ผลลัพธ์ที่ได้แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพการส่งพลังงานไปยังรถยนต์นั้นเทียบได้กับประสิทธิภาพของสถานีแบบฟาสต์ชาร์จ ทั่วไป สิ่งนี้ลายเป็นจุดจบของการหยุดพักเพื่อชาร์จไฟในรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบความเข้มข้นของระดับสนามแม่เหล็ก ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่มีผลกระทบต่อคนขับและผู้โดยสาร


“แผนกลยุทธ์ระยะยาวของเราที่ชื่อ Dare Forward 2030 ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการนำเสรีภาพแห่งการเดินทางที่ล้ำยุคไปสู่ทุกคน และโครงการนี้เป็นหัวใจสำคัญสำหรับการมุ่งหน้าต่อไป” แอนน์ ไลเซ ริชาร์ด (Anne-Lise Richard) หัวหน้าหน่วยธุรกิจ e-Mobility ทั่วโลกของสเตลแลนทิส กล่าว


ด้านวงจรที่ถูกใช้ในสนาม “Arena del Futuro” สำหรับการทดสอบนั้น ใช้พลังงานจากไฟฟ้ากระแสตรง (DC) และมีข้อดีมากมาย เช่น ลดการสูญเสียพลังงานในกระบวนการจ่ายพลังงาน ขจัดปัญหาการแปลงไฟฟ้ากระแสตรงเป็นกระแสสลับ ทั้งยังสามารถใช้สายเคเบิลที่บางกว่า และทำมาจากอะลูมิเนียม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพียงครึ่งเมื่อเทียบกับสายไฟทองแดง น้ำหนักเบากว่าและรีไซเคิลได้ง่ายกว่าอีกด้วย


คำถามที่จะเกิดต่อไปคือ แล้วใครเล่าจะต้องการสถานีฟาสต์ชาร์จ หรือสถานีสลับแบตเตอรี่ หรือใครจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่มีระยะทางเดินทางที่ไกลที่สุด ในเมื่อสามารถชาร์จไฟรถขณะขับขี่ได้แล้ว

 

ที่มาของข้อมูล Stellantis.com

ที่มาของรูปภาพ Stellantis

ข่าวแนะนำ