กู๊ดเยียร์ (Goodyear) ทดสอบใช้ยางรถยนต์ที่ไม่ต้องเติมลมกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเทสลา (Tesla)
กู๊ดเยียร์ทดสอบใช้งานยางรถยนต์แบบไม่ต้องเติมลมเพื่อพัฒนายางรถยนต์ในอนาคตที่ไม่ต้องบำรุงรักษาสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอีกต่อไป
เมื่อนึกถึงยางรถยนต์เราจะนึกถึงการเติมลมโดยสามัญสำนึก แต่เป้าหมายของบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การพัฒนายางรถยนต์ที่ไม่ต้องมีการบำรุงรักษาใด ๆ ซึ่งต่อยอดมาจากยางสำหรับยานสำรวจในอวกาศ ในปีที่แล้วมีบริษัทดังระดับโลกอย่างมิชลิน (Michelin) เปิดตัวยางรถยนต์ไร้ลม และในปีนี้ กู๊ดเยียร์ (Goodyear) ก็เป็นอีกรายที่ทดสอบอย่างเป็นทางการ
กู๊ดเยียร์ (Goodyear) พัฒนายางแบบไม่ต้องเติมลมมาก่อนในวงการหุ่นยนต์สำรวจอวกาศ เพราะบริษัทเป็นผู้พัฒนายางรถสำรวจให้กับสตาร์ชิป (Starship) หุ่นยนต์สำรวจยานอวกาศของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบการทำงานร่วมกับทีมงานของสเปซเอ็กซ์อย่างใกล้ชิด
คริส เฮลเซล (Chris Helsel) รองประธานอาวุโสและประธานฝ่ายเจ้าหน้าที่เทคนิค (CTO) ของบริษัทมองว่ากว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของอุบัติเหตุทางรถยนต์เกิดจากปัญหาเรื่องของลมยาง ดังนั้นการทำให้ยางรถยนต์ไม่ต้องเติมลมได้ก็จะช่วยทำให้รถยนต์ไร้คนขับใช้งานได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น
แนวคิดของยางรถยนต์ไร้ลมแบบเก่าจะเป็นรูปแบบของวงยางแข็ง ๆ ซึ่งเพิ่มแรงเสียดทานกับพื้นถนนและน้ำหนักตัวยางรถยนต์ แต่สิ่งที่กู๊ดเยียร์เลือกทำคือการสร้างโครงถักทอด้วยวัสดุแข็งแต่เล็กและเรียวบางซึ่งเพิ่มความยืดหยุ่น ลดแรงเสียดทานและน้ำหนักตัวยางลงได้
ยางรถยนต์แบบไร้ลมที่กู๊ดเยียร์ (Goodyear) พัฒนาขึ้นได้รับการทดสอบที่ความเร็วสูงสุดประมาณ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ความเร็วในการใช้งานจริงที่สูงที่สุดจะอยู่ที่ประมาณ 88 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยใช้รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่มียอดขายดีที่สุดของเทสลา (Tesla) หรือรุ่น Model 3 เป็นรถยนต์ในการทดสอบของกู๊ดเยียร์ (Goodyear)
เป้าหมายของกู๊ดเยียร์ (Goodyear) ในการพัฒนายางรถยนต์แบบไร้ลมอยู่ที่การนำไปใช้งานเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะในงานขนส่ง คริส เฮลเซล (Chris Helsel) มองว่าปัญหาที่ทำให้การนำยางรถยนต์แบบใหม่ไปใช้นั้นไม่คืบหน้าเท่าที่ควรอยู่ที่เรื่องของราคายางแบบใหม่ที่สูงกว่ามาก บริษัทจึงต้องเร่งพัฒนาให้ยางแบบใหม่มีต้นทุนการผลิตที่ถูกลงและนำไปใช้งานเป็นวงกว้าง
กู๊ดเยียร์ (Goodyear) มีพันธกิจในการสร้างยางรถยนต์ที่ไม่ต้องบำรุงรักษาและผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในปี 2030 ซึ่งคริส เฮลเซล (Chris Helsel) มองว่าเป้าหมายดังกล่าวนั้นยากและท้าทาย แต่บริษัทก็จะเดินหน้าพัฒนาต่อไป
ที่มาข้อมูล Forbes
ที่มารูปภาพ Mashable
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67