27 เมษายน 2005 เครื่องบินแอร์บัส A380 ทดสอบบินครั้งแรก
เครื่องบินแอร์บัส A380 รุ่นทดสอบถูกสร้างขึ้นมา 5 ลำ ในโรงงานประกอบเครื่องบินเมืองตูลูสประเทศฝรั่งเศส การทดสอบบินมีขึ้นในสนามบินตูลูส-บลาญัก โดยมีทีมงานวิศวกรและลูกเรือทั้งหมด 6 คน
27 เมษายน 2005 เครื่องบินแอร์บัส A380 เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่สุดในโลกทดสอบบินขึ้นสู่ท้องฟ้า ผลงานการวิจัยและพัฒนาโดยบริษัทแอร์บัส บริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีการบินในยุโรป เครื่องบินโดยสารลำใหญ่ที่สุดในโลกผู้ท้าชิงตำแหน่งจากเครื่องโบอิ้ง 747 จากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจการบินในสหรัฐอเมริกาที่ยึดครองแชมป์เครื่องบินโดยสารลำใหญ่ที่สุดในโลกมายาวนานกว่า 35 ปี
เครื่องบินแอร์บัส A380 รุ่นทดสอบถูกสร้างขึ้นมา 5 ลำ ในโรงงานประกอบเครื่องบินเมืองตูลูสประเทศฝรั่งเศส การทดสอบบินมีขึ้นในสนามบินตูลูส-บลาญัก โดยมีทีมงานวิศวกรและลูกเรือทั้งหมด 6 คน อยู่บนเครื่องบิน ส่วนการทดสอบบินในเพดานบินสูงสุดครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงปี 2006 การทดสอบบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมีขึ้นในปี 2006 และการทดสอบบินในเพดานบินสูงสุดครั้งที่สองเกิดขึ้นในช่วงปี 2009
การออกแบบเครื่องบินแอร์บัส A380 ใช้เทคโนโลยีล่าสุดรองรับผู้สารในเที่ยวบินปกติ 525 ที่นั่ง และสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 853 ที่นั่ง โครงสร้างของเครื่องบินแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ความสูง 24.09 เมตร วงปีกกว้าง 79.75 เมตร ความยาวลำตัวเครื่อง 72.72 เมตร ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน Rolls-Royce Trent 900 (A380-841/-842) นับว่าเป็นเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่มากจนน่าตกใจ สำหรับเพดานบินสูงสุดของเครื่องบินอยู่ที่ 43,000 ฟุตหรือ 13 กิโลเมตร ทำความเร็วสูงสุด 903 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พิสัยการบิน 14,800 กิโลเมตร รองรับการบินข้ามทวีประยะทางไกล
สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์เป็นสายการบินแรกที่นำเครื่องบินแอร์บัส A380 เข้ามาให้บริการกับลูกค้าในปี 2007 อย่างไรก็ตามสายการบินเอมิเรตส์แอร์ไลน์เป็นสายการบินที่นำเครื่องบินแอร์บัส A380 เข้าให้บริการในสายการบินมากที่สุดเป็นจำนวน 123 ลำ สำหรับสายการบินไทยมีเครื่องบินรุ่นนี้ 6 ลำ แต่ละลำรองรับผู้โดยสารได้ 507 คน ต่อเที่ยวบินแบ่งออกเป็นชั้นหนึ่ง 12 ที่นั่ง ชั้นธุรกิจ 60 ที่นั่ง และชั้นประหยัด 435 ที่นั่ง
เครื่องบินแอร์บัส A380 ถูกสร้างขึ้นมาทั้งหมด 254 ลำ กระจายไปยังสายการบินต่าง ๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตามในปี 2019 บริษัทแอร์บัสได้ประกาศยุติสายการผลิตของเครื่องบินรุ่นนี้ในปี 2021 หลังจากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงและการยกเลิกคำสั่งซื้อจากลูกค้าบางราย รวมไปถึงการมีขนาดเครื่องบินที่ใหญ่ทำให้มีอัตราการใช้เชื้อเพลิงที่สูง ต้นทุนต่อเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นหากผู้โดยสารไม่เต็มลำ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการแข่งขันด้านการตลาดที่สายการบินต่าง ๆ เริ่มใช้วิธีการขายตั๋วเที่ยวบินแบบต่อเครื่องหลายจุดเพื่อลดต้นทุนการบิน ปัจจุบันแม้ว่าเครื่องบินแอร์บัส A380 จะยุติสายการบินไปแล้วแต่เครื่องบินโดยสารรุ่นนี้ยังคงบินให้บริการอยู่ในหลายประเทศและสร้างความประทับใจในขนาดใหญ่ของมันเมื่อบินขึ้นสู่ท้องฟ้า
ที่มาของข้อมูล nytimes.com
ที่มาของรูปภาพ airbus.com
ข่าวแนะนำ
-
จีนทดลองวิ่งรถบรรทุกไร้คนขับ
- 08:11 น.
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67