TNN DeepMind พัฒนา AI ควบคุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน

TNN

Tech

DeepMind พัฒนา AI ควบคุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน

DeepMind พัฒนา AI ควบคุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน

สักวันหนึ่งเราจะมีพลังงานอันมหาศาลด้วยปฏิกิริยาฟิวชัน เช่นเดียวกับแกนกลางของดวงอาทิตย์

พลังงานนิวเคลียร์จัดว่าเป็นพลังงานสะอาดที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมหาศาล โดยสร้างมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการเผาถ่านหินหรือใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ในขณะเดียวกันพลังงานนิวเคลียร์ยังต้องอาศัยการควบคุมที่ซับซ้อน หากเกิดข้อผิดพลาดอาจกลายเป็นหายนะอันใหญ่หลวงได้




ล่าสุด DeepMind บริษัทในเครือ Google ได้พัฒนา AI ที่สามารถควบคุมเตาปฏิกรณ์โทคาแมค (Tokamak) ซึ่งเป็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันในศูนย์ Swiss Plasma Center โดยหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะสามารถสร้างพลังงานไร้ที่สิ้นสุดขึ้นมาได้เองเหมือนการสร้างดวงอาทิตย์ขนาดย่อมบนโลกนั่นเอง


DeepMind พัฒนา AI ควบคุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน เตาปฏิกรณ์โทคาแมค (Tokamak reactor)
ที่มาของภาพ ITER

 


ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของโรงงานนิวเคลียร์ จะใช้พลังงานนิวเคลียร์ฟิชชัน (Fission) ซึ่งเกิดจากการแตกตัวของธาตุกัมมันตรังสี เมื่อธาตุเหล่านี้แตกตัวออกเป็นผลให้เกิดพลังงานขึ้นมาได้ ในขณะที่พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน (Fusion) คือการรวมกันของอะตอมของธาตุ จนเกิดเป็นอะตอมธาตุใหม่ เช่น การรวมตัวของอะตอมไฮโดรเจนจำนวน 4 อะตอมจนเกิดเป็นฮีเลียม ซึ่งจะสร้างพลังงานขึ้นมาได้มากกว่าพลังงานจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน และปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันนี้คือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นภายในแกนกลางของดวงอาทิตย์ด้วย


DeepMind พัฒนา AI ควบคุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน ปฏิกิริยา Fusion และ Fission
ที่มาของภาพ Ask Mattrab

 


ดังนั้น ในการสร้างพลังงานขึ้นจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันจึงจำเป็นต้องอาศัยการควบคุมที่มีความแม่นยำสูง จึงเป็นเหตุให้ AI เข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมเตาปฏิกรณ์โทคาแมคนี้ โดยบริษัท DeepMind ได้ฝึกให้ AI เรียนรู้การควบคุมกลไกต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างพลังงานนิวเคลียร์ขึ้น เริ่มจากการฝึกผ่านระบบเสมือนจริงในคอมพิวเตอร์ ก่อนลงฝึกในสนามทดลอง ณ เตาปฏิกรณ์ทดลองในเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งปรากฏว่า AI สามารถจัดการได้ตามที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งเป้าหมายไว้


AI จาก DeepMind สามารถควบคุมและจัดการส่วนต่าง ๆ กว่า 90 ส่วนที่จำเป็นต่อการสร้างพลังงานนิวเคลียร์ในเตาปฏิกรณ์โทคาแมค ได้รวดเร็วถึง 1,000 ครั้งภายในเวลา 1 วินาที นั่นหมายความว่า AI ตัวนี้มีศักยภาพมากพอที่จะสามารถควบคุมเตาปฏิกรณ์ได้แบบเรียลไทม์ และมันสามารถจัดการได้ดีกว่ามนุษย์ในแง่ของความเร็วในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า


DeepMind พัฒนา AI ควบคุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน ที่มาของภาพ ITER

 


นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าหาก AI ได้รับการพัฒนาจนพร้อมต่อการนำมาใช้ วันหนึ่งพวกเขาจะสามารถสร้างพลังงานอันมหาศาลได้ เช่นเดียวกับปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ และจะมีพลังงานมากเพียงพอที่จะแจกจ่ายให้กับผู้คนในประเทศแบบฟรี ๆ เลยก็เป็นได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering

ข่าวแนะนำ