นักวิจัยจากสแตนฟอร์ด คิดค้นวิธี "ปลูกผม" แก้ปัญหาหัวล้านด้วยสเต็มเซลล์
เป็นการประยุต์ใช้เทคโนโลยีด้านพันธุวิศกรรม ในการสร้างสเต็มเซลล์เพื่อเร่งการสร้างเส้นผม
บริษัทน้องใหม่แห่งซิลิคอนวัลเลย์ dNovo ก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้คิดค้นวิธีการแก้ปัญหา "หัวล้าน" โดยใช้เทคโนโลยีด้านพันธุวิศวกรรม ในการกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเส้นผมให้กลับมาทำงานได้อีกครั้ง
หัวล้านและผมบาง เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย (Multifactorial condition) นอกเหนือจากยีนทางกรรมพันธุ์แล้วยังเกี่ยวข้องกับอายุ, ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และความเครียด ยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่หลายคนต้องทำงานออนไลน์ อาจทำให้เกิดความเครียดสะสมจนเร่งให้ผมร่วงบ่อยขึ้นในผู้ที่มีภาวะผมบาง/ผมร่วงอยู่แล้ว
สำหรับการรักษาหัวล้าน บริษัท dNovo เน้นไปที่การจัดการกับสาเหตุจากเซลล์สร้างเส้นผมไม่ทำงาน หรือเซลล์มีอายุสั้นกว่าปกติส่งผลให้ไม่สามารถผลิตเส้นผมขึ้นมาได้อีก โดยใช้การสร้างเซลล์ผลิตเส้นผมจากสเต็มเซลล์ ซึ่งอยู่ด้วยกัน 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. รวบรวมเซลล์ต้นแบบ อาจใช้เซลล์เม็ดเลือดของอาสาสมัครก็ได้
2. นำเซลล์ที่รวบรวมได้ มาเข้ากระบวนการ Reprogramming เพื่อย้อนกลับเซลล์ให้อยู่ในสถานะของสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งมีคุณสมบัติในการเจริญไปเป็นเซลล์ชนิดใดก็ได้
3. เมื่อได้สเต็มเซลล์แล้ว จะกระตุ้นให้สเต็มเซลล์กลายเป็นเซลล์ผลิตเส้นผม แล้วนำไปเพาะเลี้ยงจนได้จำนวนที่ต้องการ
4. ปลูกถ่ายเซลล์สร้างเส้นผมลงไปในหนังศีรษะ
5. ใช้เวลา 1-3 เดือนจะมีเส้นผมขึ้นใหม่ในบริเวณที่มีการปลูกถ่ายเซลล์
จุดเด่นของการกระบวนการนี้ คือการเก็บรวบรวมเซลล์จากร่างกายของอาสาสมัครเอง เป็นต้นว่าการใช้เซลล์เม็ดเลือด, เซลล์ผิวหนัง หรือเซลล์ส่วนอื่นที่เก็บรวบรวมได้ง่าย ซึ่งการใช้เซลล์ของตนเองจะมีความเข้ากันได้กับร่างกายและลดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกาย ไม่ให้ไปทำลายเซลล์ที่ถูกปลูกถ่ายลงไปในหนังศีรษะ
ส่วนวิธีการ Reprogramming นั้น เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาใช้กันมากขึ้นในการสร้างเซลล์, เนื้อเยื่อ หรืออวัยวะที่ต้องการ ผู้ทดลองสามารถใช้เซลล์ชนิดใดก็ได้แล้วนำมา “ย้อนกลับ” ให้เซลล์ดังกล่าวที่เป็นเซลล์โตเต็มวัยกลายเป็นสเต็มเซลล์ที่สามารถเจริญไปเป็นเซลล์ชนิดใดก็ได้ ขึ้นกับว่าผู้ทดลองต้องการเปลี่ยนเซลล์สเต็มเซลล์ดังกล่าวให้เป็นเซลล์ชนิดใด อย่างในกรณีของการทดลองนี้ คือการนำเซลล์เม็ดเลือดแดงมาย้อนกลับให้เป็นสเต็มเซลล์ จากนั้นจึงกระตุ้นให้กลายเป็นเซลล์สร้างเส้นผมในที่สุด
สำหรับกระบวนการทั้งหมดนี้ประสบความสำเร็จในหนูทดลอง ถึงกระนั้นยังต้องมีการปรับปรุงอีกสักระยะหนึ่งก่อนที่จะนำมาใช้ในมนุษย์ ซึ่งนักวิจัยคาดว่าวิธีการนี้อาจเป็นการรักษาภาวะหัวล้านหรือผมบางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเลยทีเดียว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering
ข่าวแนะนำ
-
จีนทดลองวิ่งรถบรรทุกไร้คนขับ
- 08:11 น.
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67