ปีแห่ง Space! สรุปความก้าวหน้าทัวร์อวกาศ ธุรกิจมาแรงแห่งปี
ตลอดปีนี้ข่าววงการอวกาศมาแรง ต่างฝ่ายต่างทุ่มงบ จัดหนักจัดเต็ม ชิงความเป็นหนึ่ง แล้วธุรกิจอวกาศกำลังจะก้าวเข้ามาเป็นตลาดหลักของโลกหรือไม่? เราสรุปมาให้แล้ว!
ตลอดทั้งปี 2021 ต้องยกให้เป็น “ปีแห่งธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศ” ยืนยันได้จากข่าวความเคลื่อนไหวที่มีมาให้ติดตามกันตลอดทั้งปี และถ้าหากดูในแง่ของการเติบโตแล้ว ธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศมีตัวเลขที่น่าสนใจมากทีเดียว!
ที่เป็นเช่นนี้ ก็สืบเนื่องมาจากเหตุผลที่ว่า เทคโนโลยีที่ใช้พัฒนาตัวจรวด เครื่องบินความเร็วสูง หรือยานพาหนะใด ๆ ในธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศ สามารถที่จะนำไปปรับใช้กับเครื่องบินโดยสารที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันได้ เพื่อให้การเดินทางนั้นมีประสิทธิภาพและเร็วขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น ธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศ จึงไม่ได้ครอบคลุมแค่การเดินทางออกไปนอกโลกอย่างเดียว แต่มันยังรวมถึงการเดินทางบนน่านฟ้าอีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางข้ามทวีป กลายเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่าเดิม
ด้วยโอกาสทางธุรกิจที่มีมากมายของตลาดธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศ จึงทำให้บริษัทเทคหลาย ๆ เจ้าพยายามที่จะกระโดดเข้ามาในตลาดนี้ และแย่งชิงความเป็นหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามทหารเสือผู้นำด้านการท่องเที่ยวอวกาศที่เราได้ยินเรื่องราวของเขากันมาตลอดทั้งปี ได้แก่ Blue Origin, SpaceX และ Virgin Galactic ที่น่าสนใจ คือ ทั้งสามบริษัทต่างก็มีจุดเด่นในการให้บริการของตัวเอง และต่างออกมาแสดงความพร้อม แสดงศักยภาพ ด้วยการทดสอบเที่ยวบิน พาลูกเรือ ซึ่งไม่ใช่นักบินอวกาศ แต่เป็นคนธรรมดาที่มีแบกกราวนด์แตกต่างกัน ขึ้นไปเยือนอวกาศให้ชาวโลกได้เห็นมาแล้ว ซึ่งการทดสอบเที่ยวบินของทั้งสามทหารเสือนี้ก็ผ่านไปได้ด้วยดี
VERGIN GALACTIC
การแข่งขันของ 3 บริษัทธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศในอเมริกา ผู้ที่เข้าสู่เส้นชัยพาคนธรรมดาไปเที่ยวอวกาศได้เป็นเจ้าแรกคือ “เวอร์จิน กาแล็กติก” ของริชาร์ด แบรนสัน เจ้าของแบรนด์เวอร์จินที่ครอบคลุมธุรกิจหลากหลาย โดยบริษัทสร้างตำนานด้วยการนำเครื่องบินอวกาศ “วีเอสเอส ยูนิตี” vss unity ขึ้นบินพร้อมลูกเรือได้สำเร็จ แซงหน้าคู่แข่งทั้งบลูออริจินและสเปซเอ็กซ์ไปก่อนคนแรก
สำหรับเที่ยวบินท่องอวกาศของเวอร์จิน กาแล็กติก นั้น มีความแตกต่างจากอีกสองบริษัท ตรงที่เป็นการเน้นการให้ “ประสบการณ์เหมือนได้นั่งเครื่องบินชมอวกาศ” โดยเมื่อ ตัวยาน ไต่ถึงระดับที่เหมาะสม ระบบจะทำการดีดตัวแยกเครื่องบินอวกาศ “วีเอสเอส ยูนิตี” ออกมา และเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเหนือเสียง 3 เท่า เพื่อขึ้นไปแตะอวกาศ ที่ระดับความสูงประมาณ 86 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก
ด้วยระดับความสูงนี้ จึงทำให้บลูออริจิน คู่แข่ง แอบแซวว่า เวอร์จิน กาแล็กติก ไปได้ถึงแค่ขอบอวกาศ อย่างไรก็ตาม เวอร์จิน กาแล็กติก ก็ไม่แคร์ที่โดนแซวแบบนี้ เพราะถือว่าบริษัทสามารถสร้างตำนานได้เป็นเจ้าแรก และยังเป็นเสมือนการประกาศความพร้อมที่จะให้บริการเชิงพาณิชย์ในไตรมาสสี่ของปี 2022 ตามแผนที่วางไว้ ส่วนราคาตั๋วคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 450,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 14,700,000 บาท ต่อหนึ่งที่นั่ง
BLUE ORIGIN
ในส่วนของบลู ออริจิน ของมหาเศรษฐี เจฟฟ์ เบโซส์ผู้ก่อตั้ง e-commerce ยักษ์ใหญ่ของโลก Amazon แม้จะโดนเวอร์จิน กาแล็กติก ตัดหน้าขึ้นสู่อวกาศไปก่อน 9 วัน แต่บริษัทก็ได้ยืนยันอย่างภาคภูมิใจว่าจรวด New shepard ของบริษัทจะพาผู้โดยสารออกไปแตะอวกาศได้ไกลกว่าเวอร์จิน กาแล็กติกอย่างแน่นอน โดยความโดดเด่นของบลู ออริจิน คือ การออกแบบจรวดให้ยิงขึ้นและลงจอดในแนวตั้ง มีหน้าต่างชมวิวที่กว้างและมองเห็นได้รอบด้านกว่า
นอกจากนี้ตัวแคปซูลยังไม่จำเป็นต้องใช้คนขับแบบเวอร์จิน กาแล็กติก ทั้งยังสามารถนำตัวจรวดบางส่วนกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วย โดยการขึ้นบินของบลู ออริจิสองครั้งก่อนหน้านี้ ก็มีเกสต์ที่เรียกเสียงฮือฮาได้ทั้ง วอลลี ฟังก์ นักบินอวกาศหญิงที่มีอายุ 82 ปี ทำสถิตินักบินอวกาศที่อายุมากที่สุดเท่าที่เคยไปอวกาศ ก่อนจะโดนทุบสถิติในรอบที่สองด้วยวิลเลียม แชตเนอร์ ผู้รับบทกัปตันเคิร์กจาก สตาร์ เทรค ที่ออกไปแตะอวกาศด้วยอายุ 90 ปี
ส่วนระดับความสูงที่บลู ออริจิน พาขึ้นไป จะอยู่ที่ประมาณ 100 กิโลเมตรจากพื้นดิน ก็คือ อยู่ในระดับเส้นคาร์เเมน (Kármán Line) ที่ทางสหพันธ์การบินนานาชาติได้บัญญัติให้เป็นเส้นแบ่งโลกและอวกาศ ส่วนราคาค่าตั๋วยังไม่มีเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่เคยมีราคาตั๋วประมูลที่เปิดเผยไว้อยู่ที่ประมาณ 28 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 920 ล้านบาท
SPACEX
ส่วนสเปซเอ็กซ์ ของอีลอน มัสก์ ซีอีโอดังของ Tesla แม้ว่าเขาจะทำธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศด้วยเช่นกัน แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นอีลอน มัสก์ ดังนั้น เขาจึงเลือกทำการตลาด ที่แตกต่างจากสองบริษัทก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง
โดยของสเปซเอ็กซ์จะเน้นไปที่การเดินทางท่องเที่ยว และใช้ชีวิตอยู่บนอวกาศจริง ๆ หรือแบบ orbital ไม่ใช่แค่ไปแล้วกลับแบบบลูออริจินและเวอร์จิน กาแล็กติก สำหรับเที่ยวบินดังของสเปซเอ็กซ์ที่พาพลเรือนชุดแรก ที่ไม่ใช่นักบินอวกาศมืออาชีพ ขึ้นไปท่องเที่ยวและอาศัยอยู่อวกาศ ก็คือ ภารกิจ Inspiration4 ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยเป็นการเดินทางด้วยจรวด ฟอลคอน ไนน์ และแคปซูล ดรากอน ลูกเรือทั้งสี่คน ได้ทดลองใช้ชีวิตอยู่ในสภาพไร้น้ำหนักเป็นเวลาสามวันในขณะที่โคจรอยู่ห่างจากโลกประมาณ 372 ไมล์ หรือประมาณ 590 กิโลเมตร
ส่วนความสำเร็จของสเปซเอ็กซ์นอกจากการพาลูกเรือไปท่องเที่ยวอวกาศนี้ก็คือการจับมือกับนาซา ทำภารกิจรับ-ส่ง นักบินอวกาศไปทำภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ที่น่าสนใจคือสเปซเอกซ์ยังได้รับเลือกจากนาซา ให้เข้าร่วมในภารกิจอาร์ทิมิส (Artemis)โครงการส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในปี 2025 ตามแผนที่วางไว้
ส่วนแผนธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศระยะไกลของสเปซเอ็กซ์ที่วางไว้ ก็คือการพัฒนายานสตาร์ชิป Star Ship ที่สามารถบรรทุกน้ำหนักคนและสิ่งของรวมกันได้มากกว่า 100 ตัน เพื่อนำคนขึ้นไปท่องอวกาศและเที่ยวดวงจันทร์แบบไปกลับ รวมถึงอาจจะพัฒนาให้ไกล ไปจนถึงการขนส่งมนุษย์ไปกลับระหว่างโลกและดาวอังคารส่วนราคาค่าตั๋ว ยังไม่มีประกาศแน่ชัด ขึ้นอยู่กับลักษณะทัวร์อวกาศที่อีลอน มัสก์จะจัดให้ คาดว่าจะเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 55 ล้านดอลลาร์ หรือ 1,800 ล้านบาท ต่อหนึ่งที่นั่ง
ธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศไม่ได้จำกัดแค่เรื่องการท่องเที่ยว แต่ยังต่อยอดไปยังธุรกิจอื่น ๆ ด้วย เช่น วงการภาพยนตร์ของรัสเซีย ที่พึ่งสร้างตำนานไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยการส่งนักแสดงหญิงและผู้กำกับ ขึ้นไปถ่ายทำภาพยนตร์บนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS จริง ๆ เป็นครั้งแรก ภารกิจนั้นใช้เวลา 12 วัน เดินทางด้วยยานอวกาศโซยุซ MS -19 แซงหน้าภารกิจของทอมครูซกับสเปซเอ็กซ์
หรือ อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ ก็คือ การเตรียมสร้างสถานีอวกาศเอกชนแห่งแรกของโลก ชื่อว่า Orbital Reef (ออบิทอล รีฟ) ที่จะเปิดให้ใช้งานเชิงพาณิชย์ โดยสามารถใช้เป็นที่พักผ่อนระหว่างการท่องเที่ยว ถ่ายหนัง ไปจนถึงการเปิดเป็นพื้นที่สำหรับทำวิจัยบนอวกาศ เปิดกว้างให้ลูกค้าทุกระดับและทุกประเทศ สามารถมาขอเช่าเพื่อใช้บริการได้
จะเห็นได้ว่าต่อไป พื้นที่ว่างเปล่านอกโลก จะกลายไปเป็นแหล่งทำเงินมูลค่ามหาศาล ที่บรรดาบริษัทต่าง ๆ จะต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือดที่จะครองแชมป์ความเป็นหนึ่งในธุรกิจอวกาศธุรกิจใหม่แห่งอนาคตอย่างแน่นอนสมัยก่อน การที่คนธรรมดาจะได้ขึ้นไปในอวกาศ แทบเป็นไปไม่ได้เลยนะคะ แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้คนธรรมดาอย่างเราสามารถเดินทางไปชมบรรยากาศนอกโลกได้ง่าย ไม่ต่างจากการเดินทางไปต่างประเทศ ขอเพียงมีเงินจ่ายค่าตั๋วเท่านั้น
ขอบคุณข้อมูลจาก
cnbc, economist, tnnthailand, gadgets.ndtv, cbsnews, theverge, reuters, tnnthailand, space, nsm.or.th, tnnthailand, businessinsider, cnet, hindustantimes, metro.co.uk, insider
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67