TNN ยิ่งใช้เยอะยิ่งจ่ายเยอะ! เผยสาเหตุ "ค่าไฟแพง" ส่วนใหญ่จากเครื่องใช้ไฟฟ้า

TNN

Social Talk

ยิ่งใช้เยอะยิ่งจ่ายเยอะ! เผยสาเหตุ "ค่าไฟแพง" ส่วนใหญ่จากเครื่องใช้ไฟฟ้า

ยิ่งใช้เยอะยิ่งจ่ายเยอะ! เผยสาเหตุ ค่าไฟแพง ส่วนใหญ่จากเครื่องใช้ไฟฟ้า

เฟซบุ๊กเพจ "โธ่ ชีวิตพนักงานไฟฟ้า" โพสต์อธิบายถึงสาเหตุ "ค่าไฟแพง" พบ ปัญหาส่วนมากเกิดจากเครื่องใช้ไฟฟ้า แอร์ คอมเพลสเซอร์ เครื่องฟอกอากาศ พัดลมไอน้ำ ตู้เย็น แจงการคิดค่าบริการเป็นแบบ "อัตราก้าวหน้า" ยิ่งใช้เยอะยิ่งจ่ายแพง

วันนี้ (19 เม.ย.63) จากกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าค่าไฟฟ้าในช่วงเดือนมี.ค. สูงขึ้นมากกว่าปกติ ล่าสุด เฟซบุ๊กเพจ "โธ่ ชีวิตพนักงานไฟฟ้า" ได้ออกมาโพสต์อธิบายถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า ทำไมค่าไฟฟ้าถึงแพงขึ้น? มาดูคำตอบแบบเปิดใจกันหน่อย‼️

1. การไฟฟ้า คิดเงินแบบอัตราก้าวหน้ามาตลอด ใช้เยอะจ่ายเยอะ ประโยคนี้คือ ความจริง (จะอ้างไม่รู้ไม่ได้นะคะ หรือจะบอกว่าสุดท้ายไฟฟ้าก็เอาเปรียบอยู่ดีไม่ได้ ไฟฟ้าไม่ได้ไปใช้ไฟกับคุณ )

2. ตัวแปรของค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น คือ หน่วยการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น พูดง่าย ๆ ก็ คือ คุณใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเลยทำให้ราคามันก้าวกระโดด

3. หลายคนคงสงสัย ทำไมหน่วยการใช้ไฟฟ้าถึงขึ้นได้มากขนาดนี้ ? ไฟฟ้ามาทำอะไรกับมิเตอร์รึเปล่า ? คำตอบ คือ ไฟฟ้าไม่มีใครไปทำอะไรกับมิเตอร์ลูกค้าหรอกค่ะ เอาจริง ๆ นะ พนักงานแผนกมิเตอร์จำนวน 7 คน ต่อผู้ใช้ไฟฟ้าหลักแสนราย

ทีนี้เราต้องมาดูพฤติกรรมของตัวเองและคนในบ้าน ที่บอกว่าฉันใช้ไฟเท่าเดิม ลองคิดนะ

เปิดแอร์ เวลาเดิมทุกวัน 8.00 - 12.00 คุณเย็นเท่าเดิมจริง แต่ตัวที่ทำให้มิเตอร์ขึ้นหน่วยไวแค่ไหน อยู่ที่คอมเพลสเซอร์ข้างนอก ถ้าอากาศข้างนอกร้อนแค่ไหน หน่วยการใช้ไฟก็ขึ้นไวเท่านั้นเพราะคอมเพลสเซอร์คุณทำงานหนัก ยิ่งถ้าเปิดแอร์พร้อมกันนะ เสียงคอมดังนานแค่ไหนนั่นแหละคือ ทำใจไว้เลย มิเตอร์กำลังหมุนอย่างแรง และ นั่นคือ เงินที่คุณต้องจ่ายไป

เครื่องฟอกอากาศอีก แทบทุกยี่ห้อกินไฟ ลองดูนะที่บอกประหยัดไฟคือไม่ประหยัดเลย ยิ่งเปิดพร้อมแอร์ คูณกำลัง 2 ไปเลย

ตู้เย็น เห็นตั้งนิ่ง ๆ แบบนั้น กินไฟเราแบบเงียบ ๆ นะค่ะ หน้าที่ของตู้เย็นคือต้องทำความเย็นในช่องแช่อาหาร ตามอุณภูมิที่เรากำหนด เช่น เราตั้งไว้ที่ 1 องศา หลักการทำงานของมันคือ ต้องทำยังไงก็ได้ให้ 1 องศาตลอดเวลา นั่นก็ คอมเพลสเซอร์หลังตู้เย็นไงที่เป็นตัวทำงาน

- เปิดตู้เย็นบ่อย ๆ เปลืองไฟจริง เพราะตู้เย็นสูญเสียอุณภูมิตอนเปิด

- แช่ของแบบไม่คิด ยัด ๆ เข้าไปก็เปลืองไฟจริง ต้องจัดระเบียบตู้เย็นกันบ้าง

บ้านที่มีปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าส่วนมาก จะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าดังนี้

1. แอร์ พร้อม คอมเพลสเซอร์

2. เครื่องฟอกอากาศ

3. พัดลมไอน้ำ

4. ตู้เย็น ยิ่งอัดของเยอะ คอมเพลสเซอร์ตู้เย็นที่ดังตลอดเวลานั่นแหละคือ กำลังกินไฟคุณ ตู้เย็นที่ประหยัดไฟคือตู้เย็นที่แช่แค่เครื่องดื่มไม่เกิน 5 ขวดเท่านั้น ถึงจะได้จ่ายราคาต่อปีตามที่ร้านโฆษณา

สรุปคือ ไฟฟ้าไม่ได้ปรับ หรือ ทำอะไรทั้งนั้น ไม่ได้คิดจะทำอะไรด้วย ไม่ฉวยโอกาสอะไรทั้งนั้น ไฟฟ้าการรันตีราคาให้แบบนี้

- ใช้ไปหน่วยที่ 0- 150 หน่วย จ่ายราคาหน่วยละ 3.2484 บาท

- ใช้ไปหน่วยที่ 151 - 400 หน่วย จ่ายราคาหน่วยละ 4.2218 บาท

- ใช้ไปหน่วยที่ 400 ขึ้นไป จ่ายราคาหน่วยนะ 4.4217 บาท

ยกตัวอย่างการคิดแบบคร่าว ๆ

ตัวอย่างที่ 1

ใช้ไฟฟ้าไป 200 หน่วย เราจะคิดค่าไฟแบบนี้

150 หน่วยแรก × 3.2484 = 487.26 บาท

50 หน่วยที่เหลือ × 4.2218 = 211.09 บาท

รวมเป็นเงิน = 698.35 บาท

(ราคายังไม่รวม vat 7 % , ค่าบริการ , หักส่วนลดค่า FT)

ตัวอย่างที่ 2

ใช้ไฟฟ้าไป 400 หน่วย เราจะคิดค่าไฟแบบนี้

150 หน่วยแรก × 3.2484 = 487.26 บาท

250 หน่วยที่เหลือ × 4.2218 = 1,055.45 บาท

รวมเป็นเงิน = 1,542.41 บาท

(ราคายังไม่รวม vat 7 % , ค่าบริการ , หักส่วนลดค่า FT)

ตัวอย่างที่ 3

ใช้ไฟฟ้าไป 600 หน่วย เราจะคิดค่าไฟแบบนี้

150 หน่วยแรก × 3.2484 = 487.26 บาท

250 หน่วยถัดมา × 4.2218 = 1,055.45 บาท

200 หน่วยที่เหลือ × 4.4217 = 884.34 บาท

รวมเป็นเงิน = 2,427.05 บาท

(ราคายังไม่รวม vat 7 % , ค่าบริการ , หักส่วนลดค่า FT)

ตัวอย่างที่ 4

ใช้ไฟฟ้าไป 1,000 หน่วย เราจะคิดค่าไฟแบบนี้

150 หน่วยแรก × 3.2484 = 487.26 บาท

250 หน่วยถัดมา × 4.2218 = 1,055.45 บาท

600 หน่วยที่เหลือ × 4.4217 = 2,653.02 บาท

รวมเป็นเงิน = 4,195.73 บาท

(ราคายังไม่รวม vat 7 % , ค่าบริการ , หักส่วนลดค่า FT)

พอจะเห็นภาพชัดเจนกันขึ้นไหมค่ะ ว่าทำไมค่าไฟถึงได้สูงขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟังทางนี้! บ้านไหนค่าไฟแพง การไฟฟ้าเตรียมเปิดให้ยื่นเรื่องตรวจสอบ

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand