กรมชลฯสั่งรับมือฝนตกหนักภาคใต้อีกระลอก 15-22 ธ.ค. นี้
กรมชลประทาน สั่งจับตาพื้นที่ภาคใต้หลังร่องมรสุมพาดผ่านในช่วงวันที่ 15 - 22 ธันวาคมนี้ ส่วนน้ำที่ท่วมใน จ.สุพรรณบุรีนานกว่า 3 เดือนคาด 1 สัปดาห์นี้จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
วันนี้ ( 14 ธ.ค. 64 )นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ในขณะนี้ว่า พื้นที่ภาคใต้หากดูจากสถิติจะเหลือระยะเวลาอีก 1 เดือน ที่จะสิ้นสุดฤดูฝน ซึ่งสถานการณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าคลี่คลายไปพอสมควร แต่ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 15-22 ธ.ค. 64 จะเกิดฝนตกในพื้นที่ตั้งแต่ จ.นราธิวาสขึ้นมา ซึ่งกรมชลประทานได้สั่งการให้สำนักชลประทานที่ 14-17 ในพื้นที่ภาคใต้เตรียมความพร้อมในการรับมือ ส่วนวันที่ 21-22 ธ.ค.64 ในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ชุมพร ก็จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งได้มีการกำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางที่ยังคงตกค้างอยู่ ในพื้นที่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีน ยังคงสูงกว่าตลิ่งราว 6 เซนติเมตร ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์ ระดับน้ำจะกลับเข้าสู่ระดับตลิ่ง
ด้านการเตรียมรับมือฤดูแล้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก ขณะนี้ เขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่ง เขื่อนขนาดกลางอีก 412 แห่ง มีน้ำอยู่ร้อยละ 57 หรือราว 58,800 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับปีที่แล้วถือว่าปริมาณน้ำดีกว่าราว 10,900 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทุกภูมิภาคน้ำเก็บกักถือว่ามากกว่าปี 2563 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี
ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาน้ำกักเก็บใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสัก มีปริมาณน้ำใช้งานอยู่ที่ 7,948 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าปีที่แล้วราว 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังคงต้องมีการจัดการ เพราะว่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยาครอบคลุม 22 จังหวัด ซึ่งกรมชลประทานคาดการณ์ว่าจะมีการปลูกข้าวในฤดูแล้งนี้อยู่ที่ 2.8 ล้านไร่ โดยปัจจุบันข้อมูลเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมพบว่า มีการปลูกข้าวแล้ว 1.2 ล้านไร่ หรือราวร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการเพาะปลูกที่ไวกว่าแผนการจัดการน้ำอยู่ราว 8 แสนไร่
ภาพจาก : AFP