TNN กทม.ติดตามสภาพอากาศเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฝนและน้ำเหนือ

TNN

สังคม

กทม.ติดตามสภาพอากาศเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฝนและน้ำเหนือ

กทม.ติดตามสภาพอากาศเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฝนและน้ำเหนือ

กทม.ติดตามสภาพอากาศเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฝนและน้ำเหนือ เร่งระบายน้ำจุดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เสี่ยง

วันนี้ (26 ต.ค.64) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ปัจจุบันพบว่าพายุโซนร้อนหมาเหล่าอยู่ที่มหาสมุทรแปซิฟิก ด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์และเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือ ไม่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย ส่วนหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางมีแนวโน้มที่จะทวีกำลังแรงขึ้น คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนล่าง ในช่วงวันที่ 27-28 ต.ค.64 ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 

สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับสถานการณ์ฝนตกหนักจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง โดยติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวังสภาพอากาศ การพยากรณ์อากาศแบบจำลองเส้นทางพายุ จากกรมอุตุนิยมวิทยา การตรวจสอบกลุ่มฝนด้วยเรดาร์ ความพร้อมของเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) เข้าพื้นที่ขณะที่ฝนเริ่มตก โดยการตรวจสอบเร่งระบายน้ำในจุดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่จุดเสี่ยง ลดระดับน้ำในคูคลอง บ่อสูบน้ำและแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม อุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 190 แห่ง บ่อสูบน้ำ 329 แห่ง และประตูระบายน้ำ 243 แห่ง 

ขณะที่สถานการณ์น้ำเหนือแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 25 ต.ค.64 ที่ไหลผ่าน อ.บางไทร เฉลี่ย 3,204 ลบ.ม./วินาที และสถานีสูบน้ำปากคลองตลาดระดับน้ำขึ้นสูงสุด เวลา 09.45 น. อยู่ที่ระดับ +1.98 ม.รทก. ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าคันกั้นน้ำประมาณ 1.02 ม. ซึ่งได้มีการตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ความยาวประมาณ 79.63 กม. พร้อมทั้งส่วนที่เป็นแนวป้องกันตนเองของเอกชนหรือหน่วยงานอื่น ความยาวประมาณ 8.30 กม. เพื่อให้เกิดความมั่นคงแข็งแรงและเสริมแนวกระสอบทรายในส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อให้มีระดับความสูงที่สามารถป้องกันน้ำที่จะเอ่อล้นเข้ามาในพื้นที่ 

นอกจากนี้ สำนักการระบายน้ำ ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำพื้นที่รอยต่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งปริมาณน้ำในทุ่งเจ้าเจ็ด และแก้มลิงมหาชัย-สนามชัย โดยปัจจุบันทุ่งเจ้าเจ็ด ปริมาณน้ำ 11.3 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำสะสม 466 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 1339 ของความจุพื้นที่ลุ่มต่ำ (350 ล้าน ลบ.ม) เกินแผน 116 ล้าน ลบ.ม. (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ต.ค.64) แก้มลิงมหาชัย-สนามชัย ปริมาณน้ำ 3.8 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 63% ของปริมาณน้ำในพื้นที่แก้มลิง (6.01 ล้าน ลบ.ม.) รับน้ำได้อีก 2.2 ล้าน ลบ.ม. (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ต.ค.64) 

ส่วนของกรุงเทพมหานครได้บริหารจัดการน้ำด้านเหนือของคลองมหาสวัสดิ์ โดยการเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อช่วยรับน้ำทางด้านจังหวัดนนทบุรี และจังหวัดนครปฐม เข้ามาในคลองทวีวัฒนาพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยการลำเลียงน้ำผ่านเข้ามายังคลองภาษีเจริญ ซึ่งใช้ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำ เร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่อีกด้านจะเร่งระบายน้ำผ่านคลองพระยาราชมนตรี คลองสนามชัยโดยสถานีสูบน้ำคลองสนามชัย เร่งสูบระบายน้ำในพื้นที่ออกไปลงทะเลได้สองทาง ได้แก่ ระบายน้ำไปทางคลองมหาชัยลงแม่น้ำท่าจีน และระบายออกสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร กับระบายน้ำออกลงสู่ทะเลทางด้านพื้นที่เขตบางขุนเทียนอีกทางหนึ่ง ซึ่งได้มีการเดินเครื่องสูบน้ำอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา รวมไปถึงการควบคุมเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำให้มีความสัมพันธ์กับการเดินเครื่องสูบน้ำ ระดับน้ำขึ้น น้ำลง สภาพอากาศและปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่


ข้อมูลจาก กรุงเทพมหานคร

ภาพจาก TNN ONLINE


ข่าวแนะนำ