เริ่มแล้ววันนี้! สมัครรับเลือกตั้งอบต.2564 เช็กเอกสารและไทม์ไลน์ที่นี่
เริ่มแล้ววันนี้! สมัครรับเลือกตั้งอบต. 2564 เช็กเอกสารและไทม์ไลน์ที่นี่ หากรู้ตัวว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กฏหมายกำหนด มีโทษ จำคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนด 20 ปี
ตามที่ สำนักงานคคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ประกาศว่า ตามข่าวสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขที่ 78/2564 ลงวันที่ 13 กันยายน 2564 เรื่อง แผนการจัดการเลือกตั้ง และประกาศ กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมีแผนงานจัดการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ดังนี้
- 11 - 15 ตุลาคม 2564 : วันรับสมัครรับเลือกตั้ง
- 22 ตุลาคม 2564 : ประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง
- 2 พฤศจิกายน 2564 : ประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
- 7 พฤศจิกายน 2564 : วันสุดท้ายการยื่นคำร้องคัดค้านการรับสมัคร
- 12 พฤศจิกายน 2564 : วันสุดท้ายการส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน
- 17 พฤศจิกายน 2564 : วันสุดท้ายเพิ่มชื่อ ถอนชื่อ
- 21 - 27 พฤศจิกายน 2564 การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง)
- 28 พฤศจิกายน 2564 : วันเลือกตั้ง
- 29 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2564 การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (ภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง)
ผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบต. หากรู้ตัวว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กฏหมายกำหนด มีโทษ จำคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนด 20 ปี
เกร็ดความรู้
อบต.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีความสำคัญต่อท้องถิ่นเป็นอย่างมาก มีขนาดเล็กและอยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชนบท ซึ่งจัดตั้งโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เพื่อดูแลและจัดทำบริการสาธารณะแก่ประชาชนในหมู่บ้านตำบล มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยข้อมูลปัจจุบัน มี อบต.จำนวน 5,300 มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดระบบบริการสาธารณะต่างๆ ในเขตพื้นที่ตำบล เช่น การสาธารณูปโภค สาธารณสุข การคุ้มครองและบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรม พัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน และผู้พิการ เป็นต้น
สำหรับการได้มาซึ่งนายก อบต.และ ส.อบต.มาจากการเลือกตั้ง โดยมีที่มา คือ นายก อบต. จะใช้เขตตำบลเป็นเขตเลือกตั้ง ส่วน ส.อบต. ใช้เขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง เว้นแต่หมู่บ้านใดมีราษฎรไม่ถึง 25 คน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกัน รวมกันแล้วมีราษฎรถึง 25 คนเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน โดย ทั้งนี้ นายก อบต. มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ กรณีดำรงตำแหน่งไม่ครบ 4 ปี ให้ถือเป็น 1 วาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระ ติดต่อกันแล้ว จะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันพ้นตำแหน่ง ส่วน ส.อบต. มีกำหนดคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
ขณะที่หน้าที่และอำนาจนายก อบต.นั้น ต้องกำหนดนโยบายให้ไม่ขัดต่อกฎหมาย และรับผิดชอบการบริหารราชการ อบต. ให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบายแผนพัฒนา อบต. ข้อบัญญัติ ข้อบังคับของทางราชการ และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีปลัด อบต.เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้าง อบต. รองนายก อบต. และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำของ อบต.ให้เป็นไปตามนโยบายและมีอำนาจหน้าที่อื่นตามกฎหมายบัญญัติหรือตามที่นายก อบต.มอบหมาย