TNN เตรียมรับมือ! ปภ.เตือนพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง "พายุโซนร้อนไลออนร็อก"

TNN

สังคม

เตรียมรับมือ! ปภ.เตือนพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง "พายุโซนร้อนไลออนร็อก"

เตรียมรับมือ! ปภ.เตือนพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง พายุโซนร้อนไลออนร็อก

ปภ. กำชับเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากพายุ “ไลออนร็อก” สั่งจนท.เข้าประจำจุดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถเผชิญเหตุ แก้ไขปัญหา และให้การช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง

วันนี้( 9 ต.ค.64)  พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ (8 ต.ค. 2564) พายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” เคลื่อนตัวทางทิศเหนือค่อนตะวันตกเล็กน้อยอย่างช้าๆ คาดว่าเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 10 - 11 ตุลาคม 2564 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น 

โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนคลื่นสูง 2 - 3 เมตร อ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดฝนตกหนักและฝนตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงคลื่นลมแรงในพื้นที่ชายฝั่ง รัฐบาลห่วงใยความปลอดภัยของประชาชน ได้กำชับให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมรับมือและดูแลประชาชนในทุกพื้นที่ 

กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จึงได้แจ้งให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ โดยให้คณะทำงานติดตามสถานการณ์ของจังหวัดเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่อย่างใกล้ชิด ทั้งข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสม ระดับน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ การระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำ และสถานการณ์น้ำของจังหวัดพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อวิเคราะห์คาดการณ์และประเมินแนวโน้มสถานการณ์ เพื่อวางแผนปฏิบัติการและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า และให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสถานการณ์และการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานราชการ 

โดยเน้นย้ำการใช้กลไกของฝ่ายปกครองกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครเครือข่ายแจ้งเตือนภัยเชื่อมโยงการแจ้งเตือนภัยในทุกรูปแบบ ทั้งหอเตือนภัย หอกระจายข่าว รถประชาสัมพันธ์ วิทยุชุมชน และสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ในพื้นที่ แนวทางปฏิบัติ และช่องทางการติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมถึงให้ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยในแต่ละพื้นที่ แบ่งมอบภารกิจ พื้นที่ และหน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจน พร้อมทั้งจัดกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ เครื่องมืออุปกรณ์เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เช่น เครื่องสูบน้ำ เรือยนต์กู้ภัย เรือท้องแบน รถสูบส่งน้ำระยะไกล รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย เข้าประจำจุดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยไว้ล่วงหน้า 

เพื่อให้สามารถเผชิญเหตุ แก้ไขปัญหา และให้การช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อเกิดเหตุในพื้นที่ ให้จัดชุดปฏิบัติการสนธิกำลังร่วมกับหน่วยทหาร ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เร่งคลี่คลายสถานการณ์และดูแลประชาชนในด้านต่าง ๆ อาทิ การดูแลด้านการดำรงชีพ ความเป็นอยู่ จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน การแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบ การดูแลความปลอดภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงในพื้นที่ให้อพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยหรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้โดยทันที โดยดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันและควบคุมโรค Covid-19 อย่างเคร่งครัด สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเล ให้ฝ่ายปกครองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำชับสถานประกอบการ โรงแรม แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวให้เพิ่มความระมัดระวังในช่วงที่มีคลื่นลมแรง พร้อมทั้งประสานการปฏิบัติกับกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำในพื้นที่ ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด โดยเฉพาะการนําเรือเข้าที่กําบังและห้ามการเดินเรือช่วงที่มีคลื่นลมแรง 

สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามข่าวสารและการแจ้งเตือนภัยจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หากมีประกาศหรือคำเตือนขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากพบเห็นหรือได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784”โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชัน

“พ้นภัย” รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

 


ข้อมูลจาก การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) 

ข่าวแนะนำ