TNN กอนช.เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วม จับตาแม่น้ำน่าน อ.ชุมแสง ฝนตกชุก ระดับน้ำเพิ่ม

TNN

สังคม

กอนช.เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วม จับตาแม่น้ำน่าน อ.ชุมแสง ฝนตกชุก ระดับน้ำเพิ่ม

กอนช.เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วม จับตาแม่น้ำน่าน อ.ชุมแสง ฝนตกชุก ระดับน้ำเพิ่ม

กอนช.แถลงสถานการณ์น้ำล่าสุด แม่น้ำปิงไหลเข้า จ.นครสวรรค์ ส่งสัญญาณลดลง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังแม่น้ำน่าน อ.ชุมแสง ที่มีฝนตกชุก เร่งตัดยอดน้ำก่อนผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำทุ่งรับน้ำเพิ่มเติม ควบคู่ระบายน้ำออกอ่าวไทย เพื่อรักษาระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ต่ำที่สุด

วันนี้ (29 ก.ย. 64) ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) แถลงถึงประเด็นสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำท่วมล่าสุด ว่า ขณะนี้ กอนช. ได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำเร่งด่วนแบบรายชั่วโมง เพื่ออัปเดตสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที โดยจากอิทธิพลของพายุโกนเซินในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับอิทธิพลของพายุเตี๊ยนหมู่ ทำให้เมื่อช่วง 16-18 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง

จากการติดตามปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา พบว่า เขื่อนภูมิพล ยังมีปริมาณน้ำไม่มากนัก คือ 47% ของความจุรวม เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 43% ของความจุ เขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำ 85% ของความจุ ในขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 83% ของความจุ อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำในเขื่อนป่าสักฯ มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ในขณะที่สถานการณ์ที่แม่น้ำปิง ณ สถานี P.16 อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร และสถานี P.17 อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ส่งสัญญาณที่ดีในการลดระดับลงของปริมาณน้ำในแม่น้ำปิง ส่งผลให้น้ำที่ไหลเข้าสู่ จ.นครสวรรค์ จะเริ่มมีปริมาณลดลงตามลำดับ

ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำน่าน ณ สถานี N.67 อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำยังไม่สูงมากนัก ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,245 ลบ.ม./วิ โดยจะใช้เวลา 1 วัน ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ จุดหลักที่เป็นปัญหาในขณะนี้คือบริเวณแม่น้ำน่าน เนื่องจากพื้นที่ของ อ.ชุมแสง มีปริมาณฝนตกมาก

ในขณะที่สถานการณ์น้ำบริเวณ สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดรวมของแม่น้ำ 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,683 ลบ.ม./วิ โดยจะขึ้นถึงจุดสูงสุดในอีก 1-2 วันข้างหน้า 

อย่างไรก็ตาม จะไม่เกิน 2,820 ลบ.ม./วิ ซึ่งจะไม่ล้นตลิ่ง เนื่องจากปริมาณสูงสุดอยู่ที่ 3,500 ลบ.ม./วิ แต่อาจจะมีบางพื้นที่ของแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีระดับตลิ่งต่ำ ซึ่งจะได้รับผลกระทบบ้าง โดยจากแนวโน้มของเขื่อนเจ้าพระยา พบว่า ปริมาณน้ำจะขึ้นถึงจุดสูงสุดในอีก 2-3 วัน โดยจะมีการเร่งระบายน้ำออกทั้งทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก พร้อมกันนี้ ทีม กอนช. ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจทุ่งรับน้ำต่างๆ ในขณะนี้ด้วย

ขณะนี้ได้มีการปรับลดการระบายน้ำเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ทางฝั่งตะวันออกลงแล้ว เนื่องจากตอนท้ายน้ำมีปริมาณน้ำมากและไม่สามารถระบายน้ำได้ แต่ต้องประสบปัญหาเนื่องจากมีน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ ที่ระบายลงมาเพิ่ม

ดังนั้น กอนช. จึงได้มอบหมายให้กรมชลประทานพิจารณาปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ ลง โดยจะมีการบริหารจัดการเขื่อนป่าสักฯ ในการช่วยกักน้ำไว้ พร้อมกันนี้ กรมชลประทานจะต้องตัดยอดน้ำก่อนไหลเข้าสู่ จ.ลพบุรี ให้เข้าไปยังคลองระพีพัฒน์ เพื่อช่วยดึงน้ำระบายออกไปด้วย

สำหรับในพื้นที่ จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี รวมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งประชาชนเกิดความวิตกกังวลถึงผลกระทบจากปริมาณน้ำที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ปัจจุบัน ณ สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ที่เป็นบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้นในอัตรา 2,750 ลบ.ม./วิ 

กอนช. ได้ประสานกรมชลประทานในการพยายามควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน ไม่ให้เกินอัตรา 2,700-2,800 ลบ.ม./วิ โดยอีกประมาณ 1 วัน น้ำจะไหลเข้าสู่บางบาล-บางไทร ก่อนเข้าสู่กรุงเทพมหานคร โดยปริมาณน้ำที่บางบาล-บางไทร ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 2,800-2,900 ลบ.ม./วิ ซึ่งไม่มากนัก โดยจะไม่เกิน 3,500 ลบ.ม./วิ

ทั้งนี้ กอนช. ได้บิน ฮ.ตรวจสถานการณ์เพื่อหาทางระบายน้ำออกทั้งทางฝั่งตะวันตกและตะวันออก เพื่อรักษาระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีปริมาณต่ำที่สุด พร้อมเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทยโดยเร็วควบคู่ไปด้วย และจะมีการติดตามสถานการณ์ตลอดเวลาเพื่อควบคุมน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในอัตราที่กำหนดไว้

ข้อมูลจาก กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

ภาพจาก กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

ข่าวแนะนำ