ศธ.แถลง "เยียวยานักเรียน" อนุบาล-ม.6 อาชีวะ ทุกสังกัด 2,000 บาท รับเต็มไม่หัก!
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงกรณีมาตรการช่วยเหลือครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง "เยียวยานักเรียน" ทุกสังกัด 2,000 บาท ไม่หักค่าใช้จ่าย คาดรับเงิน 31 ส.ค.-ก.ย.นี้ พร้อมช่วยค่าอินเตอร์เน็ตเรียนออนไลน์
วันนี้ (16 ส.ค.64) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการแถลงข่าว “จุดยืนลดภาระทางการศึกษา” เพื่อชี้แจงแนวทางในการช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการลดภาระทางการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล โดยมีผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานด้านการศึกษาอาทิ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. ร่วมชี้แจงมาตรการช่วยเหลือที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องโถงอาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ ให้สาธารณชนได้รับทราบทั่วประเทศ
น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความยากลำบากในการจัดการเรียนการสอน และการใช้ชีวิตในสถานการณ์โควิด 19 ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเป็นครั้งใหญ่ไปพร้อมกัน เพื่อให้การศึกษาหรือการเรียนรู้ยังคงสามารถเกิดขึ้นได้ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ผู้เรียนจะต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้” และจากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติงบประมาณเป็นกรณีพิเศษเพื่อสนับสนุนเยียวยาและลดผลกระทบทางการศึกษา ให้กับสถานศึกษา ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครอง โดยอนุมัติงบประมาณเป็นวงเงิน 22,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลักดังนี้
1.การจ่ายเงิน “เยียวยานักเรียน” ทุกคน ทุกสังกัด คนละ 2,000 บาท โดยผู้ปกครองรับเงินเต็มจำนวน ต่อนักเรียน 1 คน โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ.ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถานศึกษานอกสังกัด ศธ. ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ม.6 และอาชีวศึกษา ซึ่งมีอยู่ราว 11 ล้านคน รวมทั้งสิ้น 22,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับภายในวันที่ 31 สิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนนี้
***สำหรับ โครงการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของ ศธ.ที่ ครม.อนุมัติครั้งนี้ ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน โดยจะมีการจ่ายผ่านสถานศึกษา และสถานศึกษาจ่ายตรงให้นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณีในรูปแบบของเงินสด หรือนำเข้าบัญชีธนาคารจำนวน 11 ล้านคน***
2.ลดช่องว่างการเรียนและผลกระทบความรู้ที่ขาดหายไป โดยให้สถานศึกษายืดหยุ่นการใช้เงินงบประมาณตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ทั้งค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนานักเรียน เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณส่วนที่จำเป็นในสถานการณ์โควิด 19 ให้เหมาะสม
3.ให้งบประมาณช่วยเหลือสนับสนุนการพัฒนาการศึกษา เพื่อให้ครูและบุคลากรได้นำไปใช้ในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้มีความหลากหลาย รวมไปถึงค่าพาหนะ การดูแลเข้าถึงนักเรียน และค่าอินเทอร์เน็ตสำหรับการเรียนออนไลน์
นอกจากนี้ ศธ. ยังได้รับความร่วมมือจาก ดส. และ กสทช.ที่ได้สนับสนุนค่าอินเทอร์เน็ตฟรีให้กับนักเรียน เป็นระยะเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม – 15 ตุลาคม 2564 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการอนุเคราะห์เพิ่มเติมในภาคเรียนที่ 2 ต่อไปเพื่อเป็นการเรียนรู้ของเด็กที่ต่อเนื่อง
ในส่วนของขั้นตอน ภารกิจ การกระจายเงินเยียวยาของนักเรียน คือ ศธ.จะได้รับเงินจากกระทรวงการคลัง ส่งต่อไปยังผู้ปกครองนักเรียนนักศึกษาทุกคนอย่างเร่งด่วน โดยตั้งเป้าหมายว่าทุกคนจะได้รับเงินภายใน 7 วัน หลังจากที่เงินถึง ศธ. รวมทั้งจะมีการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครอง หากยังไม่ได้รับเงินดังกล่าวทันท่วงที
ขณะเดียวกันยังมีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนการวัดผลที่มีความยืดหยุ่น เพื่อลดความเครียดให้กับผู้เรียน ผู้สอน รวมถึงผู้ปกครอง และยังคงสนับสนุนให้การเรียนรู้และการสอนสามารถเดินต่อไปได้ แม้จะเกิดสถานการณ์ที่ยากลำบาก การเรียนรู้ต้องไม่หยุดนิ่งและผู้เรียนต้องไม่พลาดโอกาสในการเรียนรู้อย่างแน่นอน
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนบ้านให้เป็นสถานศึกษา ซึ่งอายุของเด็ก สภาพแวดล้อมที่บ้าน ผู้ปกครอง อุปกรณ์การเรียนล้วนเป็นปัจจัยสำคัญทั้งสิ้น ดังนั้นเพื่อผ่อนคลายความเครียด จึงต้องออกแบบการจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงสภาพเด็กนักเรียนแต่ละคน โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกแบบไว้ดังนี้
กลุ่มที่ 1 บ้านไม่มีไฟฟ้า อินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง จะจัดการเรียนการสอนแบบ On-hand เป็นชุดการเรียนไปให้ทำที่บ้าน
กลุ่มที่ 2 บ้านมีไฟฟ้า มีโทรทัศน์ แต่ไม่มีอินเทอร์เน็ต จะศึกษาโดยระบบ On-air เรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ DLTV ซึ่งมีตั้งแต่ระดับอนุบาลถึง ม.3
กลุ่มที่ 3 บ้านมีไฟฟ้าใช้ มีอินเทอร์เน็ต จะให้เรียนโดยใช้รูปแบบ Online และ On-demand
โดยสรุปแล้ว เด็กไม่ว่าจะอยู่ในภาวะใดจะต้องได้เรียนทุกคน ในส่วนของเด็กเล็กก็จะเป็นภาระของผู้ปกครองที่ต้องทำหน้าที่แทนคุณครู ซึ่งผู้ปกครอง นักเรียนและครูจะร่วมกันออกแบบการเรียน โดยยึดบ้านเป็นสถานที่เรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู ครูเป็นพี่เลี้ยงของทั้งผู้ปกครองและเด็ก
สำหรับวัยเด็กโต การศึกษาจะเกิดขึ้นได้ดีที่สุด ต้องเรียนรู้โดยใจ ภายในตัวนักเรียนเป็นหลัก หากเด็กมีความรับผิดชอบ มีระเบียบมีวินัย อย่างไรเขาก็ไปสู่เป้าหมายในการเรียนรู้ได้ ขณะเดียวกันมีการปรับแก้ระเบียบแนวทางปฏิบัติการใช้เงินอุดหนุน ให้สามารถเอาไปใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอนได้คล่องตัวขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครูที่ต้องใช้เงินตัวเองไปซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ
“สิ่งที่สำคัญที่สุด ตอนนี้เรามองเรื่องเด็ก หากจะมีการเรียน 8 กลุ่มสาระ ทำตารางการเรียนการสอนแบบเดิม คิดว่าเป็นไปไม่ได้แล้ว เราก็มาปรับเป็นตารางเรียนใหม่ เช้าเรียนวิชาการ บ่ายเรียนปฏิบัติ หรือประเมินเด็กนักเรียนจากการปฏิบัติกิจกรรมแทนการจัดความรู้ กำหนดเป้าหมายจุดประสงค์เท่าที่จำเป็น ปรับวิธีการเรียนให้ยืดหยุ่น ลดการบ้านลงโดยครูร่วมกันออกแบบการสอนให้ใบงานเดียวตอบโจทย์ได้หลายวิชา รวมถึงปรับวิธีประเมินผลให้นักเรียนสามารถนำชิ้นงานมาส่งให้แทนการสอบ เพื่อไม่ให้นักเรียนเครียด สามารถเรียนอย่างมีความสุขและสนุกกับการเรียนที่บ้านได้” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. กล่าวถึงการจัดการเรียนของอาชีวศึกษาว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กำหนดการดูแลอยู่ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มนักเรียน กลุ่มครู กลุ่มผู้ปกครอง และกลุ่มสถานศึกษา ซึ่งในส่วนของผู้เรียน จะเน้นเรื่องของสมรรถนะ นักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาต้องมีการฝึกปฏิบัติ จึงจัดการเรียนรู้ใน 3 รูปแบบ คือ Online On-site และแบบผสมผสาน จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาที่มีสมาร์ทโฟน 97% ส่วนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนก็เข้ามาเรียนแบบ On-site ในสถานศึกษาได้ แต่มีจำนวนน้อยมาก
ทั้งนี้ สถานการณ์บางจังหวัดที่เป็นสีแดงเข้ม ไม่สามารถเรียนแบบ On-site ได้ ต้องเรียนแบบ Online เท่านั้น จึงอาจมีปัญหาเรื่องการฝึกปฏิบัติ ในส่วนนี้ได้หารือกับคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เห็นชอบตรงกันว่า จะปรับในเรื่องกระบวนการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล กล่าวคือ เดิมในหนึ่งภาคเรียนจะมีการวัดผลและประเมินผลในแต่ละภาคเรียนเลย แต่ในเรื่องของการควบคุมคุณภาพ จะมีการจัดการเรียนการสอนทั้งปีการศึกษา ทำให้ในภาคเรียนแรกไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของ On-site ได้ จึงให้นำรายวิชาที่เป็นภาคทฤษฎีเข้ามาเรียนก่อน หลังจากนั้นในภาคเรียนหน้า หากสถานการณ์ดีขึ้น ก็จะใช้รูปแบบ On-site ซึ่งจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เด็กได้มีสมรรถนะ ส่วนในเรื่องของการวัดและประเมินผลเช่นเดียวกัน ที่ประชุม กอศ. เห็นชอบที่จะขยายระยะเวลาในการวัดผลประเมินผลเป็น 1 ปีการศึกษา คือแทนที่จะเสร็จสิ้นภายในภาคเดียวก็สามารถขยายเวลาเพื่อที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ได้ครบถ้วน
ในขณะเดียวกัน อีกกลุ่มหนึ่งที่มีปัญหาในเรื่องของการจัดการศึกษา คือ นักเรียนนักศึกษาที่เรียนในรูปแบบของทวิภาคี และนักเรียนนักศึกษาที่ฝึกงานในสถานประกอบการ ได้ทำข้อตกลงกันว่า จะต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจทั้ง 3 ฝ่าย คือ
1) สถานประกอบการ ต้องมีมาตรการในการควบคุมโรคโควิด 19 ที่เข้มข้น
2) ผู้ปกครอง ยินยอมให้บุตรหลานเข้าไปเรียนในสถานประกอบการ
3) ผู้เรียน มีความสมัครใจเข้าไปเรียนในรูปแบบทวิภาคี หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความเห็นไม่ประสงค์ที่จะไปฝึกงาน ก็ให้สถานศึกษาจัดสถานการณ์จำลองในจังหวัดของตนเอง หรือปรับเป็นการเรียนในรูปแบบปกติไปก่อน เพื่อให้เด็กได้สำเร็จตามหลักสูตรที่กำหนดเอาไว้
ส่วนปัญหาเรื่องผู้เรียนที่ไปฝึกงานในสถานประกอบการแล้วติดเชื้อโควิด 19 หรืออาจจะต้องถูกกักตัว 14 วัน ทำให้มีปัญหาในเรื่องของการจัดการเรียนการสอน ในส่วนนี้ สอศ.ได้ซักซ้อมไปยังสถานศึกษาให้จัดแผนการเรียนการสอนเฉพาะบุคคลสำหรับเด็กกลุ่มนี้ เพื่อไม่ให้เด็กมีปัญหาในเรื่องของการเรียนตามหลักสูตร
ด้านครูผู้สอน สอศ. มีแนวทางเดียวกับ สพฐ. คือ ให้ครูลดการประเมินและการประกวดทั้งสิ้น เหลือแต่กระบวนการในเรื่องของการจัดการเรียนการสอน การวิเคราะห์เนื้อหาที่จะมาสอนว่าเนื้อหาอาชีพที่ต้องรู้ ที่ควรรู้ ที่จะต้องเอามาดำเนินการก่อน ทั้งนี้ที่ผ่านมาสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนพร้อมใจกันคืนเงินค่าธรรมเนียมหรือค่าเทอมให้ผู้ปกครองรวมเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท และส่วนกลางก็ได้สนับสนุนสถานศึกษาในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ Online เพื่อให้กระบวนการจัดการเรียนการสอนเดินหน้าต่อไปได้ ภายใต้แนวคิด “เด็กทุกคนต้องได้เรียนและมีคุณภาพ”
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า กสทช.มีแนวทางช่วยเหลือประชาชนและนักเรียน ในการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับการเรียนออนไลน์ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นนักเรียนในระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษา สังกัด สพฐ. รวมถึงนักเรียนนักศึกษาสังกัดอาชีวศึกษา สังกัด กศน. ตลอดจนสถานศึกษาเอกชนที่รับเงินจากรัฐบาล สังกัด กทม. สังกัดกระทรวงมหาดไทย สังกัด ตชด. รวมถึงโรงเรียนสาธิต ที่มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ จำนวนกว่า 7.7 ล้านคน ในช่วงระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม ถึง 15 ตุลาคม 2564 (2 เดือน) โดยสนับสนุนใน 2 รูปแบบ คือ
แบบที่ 1 ช่วย Top-up แพ็กเกจอินเทอร์เน็ตมือถือให้เบอร์ที่นักเรียนใช้เรียนออนไลน์ ทั้งระบบเติมเงินและรายเดือน เดือนละ 79 บาท สามารถใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อการเรียนการสอนได้แบบไม่จำกัด อาทิ Microsoft Teams, Google Meet, ZOOM, Cisco Meeting, WebEx และ Line Chat พร้อมอินเทอร์เน็ตอีก 2GB สำหรับการใช้งานอื่น ๆ
แบบที่ 2 ช่วยจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตบ้าน โดยหักจากบิลค่าบริการ เดือนละ 84 บาท (ยังไม่รวม VAT) เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกรับสิทธิ์ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง และรับได้ 1 คนต่อ 1 สิทธิ์
นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ศธ. ทราบดีว่าภาคประชาชนทั่วไปได้รับความลำบากทางเศรษฐกิจ และต้องการความช่วยเหลือในบางเรื่อง ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษา บางเรื่องก็เป็นภาระกับสถานศึกษา บางเรื่องก็เป็นภาระกับผู้ปกครอง จึงเป็นที่มาของการลดภาระค่าใช้จ่ายการเรียนรู้ส่วน ขณะที่ กสทช. ก็ได้ให้ความช่วยเหลือในการจัด Top Up ค่าใช้จ่ายให้กับผู้เรียนในการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตในการเรียนออนไลน์ ต้องขอบคุณครู ผู้ปกครอง ที่พยายามดูแลบุตรหลานให้ได้รับการศึกษาให้ได้มากที่สุด โดย ศธ. ได้พยายามที่จะหาทางสนับสนุน และช่วยลดภาระของท่านในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงมีการพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้อย่างต่อเนื่อง