สีของดาวตกเกิดจากอะไร? สดร.ไขที่มาสีของดาวตกเชียงใหม่
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. อธิบายการเกิดสีต่างๆ ของดาวตก หลังเกิดเหตุการณ์แสงปริศนาที่เชียงใหม่ ก่อนตรวจสอบพบเป็นดาวตกชนิดระเบิด
วันนี้ (24 มิ.ย.64) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับ "สีของดาวตก" ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก "NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ" โดยระบุว่า
"สีของดาวตกบอกอะไรกันนะ
จากเหตุการณ์สุดตื่นเต้น เป็นที่น่าจับตามองและพูดถึงในกระแสโซเชียลอย่างมาก กับ กรณีเห็นแสงวาบและมีเสียงดังสนั่น!!
หลายพื้นที่ภาคเหนือของไทย ช่วงเย็น 22 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมา ผู้พบเห็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า สีฟ้าอมเขียว พุ่งจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก เบื้องต้นคาดว่าเป็น ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide)
ทำไมถึงเป็นสีฟ้าอมเขียวหละ? เป็นสีอื่นได้ไหม?! น่าสนใจนะ!
"ดาวตก" เกิดจากเศษหินและฝุ่นของดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย พุ่งเข้ามาชนกับชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่าง ๆ เราจึงมองเห็นสีของดาวตกปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยได้แก่ องค์ประกอบทางเคมี และโมเลกุลของอากาศโดยรอบ ซึ่งชนกับตัวดาวตกอย่างรุนแรงจนเกิดความร้อนสูง
แสงที่เปล่งออกมาจากอะตอมโลหะของดาวตก จะแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบทางเคมี เช่น
- อะตอมแคลเซียม ( Ca ) ให้แสงสีออกโทนม่วง
- อะตอมแมกนีเซียม ( Mg ) ให้แสงสีฟ้าเขียว
- อะตอมโซเดียม ( Na ) ให้แสงสีส้มเหลือง
- อะตอมเหล็ก ( Fe ) ให้แสงสีเหลือง
ในขณะที่โมเลกุลในชั้นบรรยากาศโลก จะมีอะตอมของออกซิเจน ( O ) และไนโตรเจน ( N ) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งจะให้แสงสีแดง ดังนั้น สีของดาวตกจึงขึ้นอยู่กับการเปล่งแสงขององค์ประกอบแต่ละชนิด และการเปล่งแสงของอากาศโดยรอบตัวดาวตกที่ร้อนจัด ซึ่งจะให้แสงสีแดงและสีเขียวเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับความสูงจากพื้นโลกนั้นเอง