11 พฤษภาคม วันปรีดี พนมยงค์ ผู้เปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองไทย
11 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันรำลึกถึง นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้นำการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย
วันปรีดี พนมยงค์ ตรงกับวันที่ 11 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ซึ่งเป็นวันเกิดของ นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้นำการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย, ผู้นำขบวนการเสรีไทย ต่อต้านญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง และรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของประเทศไทย
ในวันนี้จะมีการจัดงานที่ระลึกโดยองค์กรต่าง ๆ เช่น การปาฐกถาที่จัดโดยสถาบัน ปรีดี พนมยงค์ งานที่ระลึกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปรีดีเป็นผู้ประศาสน์การ (อธิการบดี) คนแรก และถือวันนี้เป็นวันสำคัญ มีงานฉลองรื่นเริงซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าร่วม และยังใช้วันนี้จัดกิจกรรมแรกพบนักศึกษาใหม่และให้นักศึกษาใหม่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมวันปรีดีด้วย
ปาฐกถาวัน ปรีดี พนมยงค์ และปาฐกถาปรีดี พนมยงค์
กิจกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่งเพื่อระลึกถึงปรีดี เนื่องในโอกาส วันปรีดี พนมยงค์ นี้ก็คือ "ปาฐกถาวันปรีดี พนมยงค์" จัดโดยสถาบัน ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งจะเชิญนักคิดนักวิชาการคนสำคัญมาเป็นองค์ปาฐก โดยก่อนหน้านี้จะจัดในวัน ปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม แต่ต่อมาได้ย้ายไปจัดในวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แทน และเปลี่ยนชื่อเป็น "ปาฐกถา ปรีดี พนมยงค์" และในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการจัดปาฐกถาพิเศษขึ้นด้วย ในวันที่ 27 มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และวันที่ประเทศสยามมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับแรก
พ.ศ. 2549 (24 มิถุนายน) “ภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ของปรีดี พนมยงค์” โดย ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
พ.ศ. 2547 (27 มิถุนายน) ปาฐกถาพิเศษเพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านผู้ประศาสน์การ โดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
พ.ศ. 2547 (24 มิถุนายน) “การอภิวัฒน์ 2475 กับเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมยุคใหม่” โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ
พ.ศ. 2541 “ธรรมรัฐกับหลัก 6 ประการของคณะราษฎร” โดย ธีรยุทธ บุญมี[4]
พ.ศ. 2540 โดย ประเวศ วะสี
พ.ศ. 2539 โดย ปรีดี เกษมทรัพย์
พ.ศ. 2531 “นโยบายต่างประเทศที่พึงปรารถนา และ แนวคิดของท่านปรีดี พนมยงค์” โดย วงศ์ พลนิกร