กยศ.ปลดล็อกผู้กู้รายใหม่ ไม่ต้องมี "ผู้ค้ำประกัน" พร้อมลดดอกเบี้ยลูกหนี้ชั้นดี
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ยกเลิกการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันในการทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป พร้อมเพิ่มมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สู้ภัยโควิด ลูกหนี้ดีลดดอกเบี้ยเหลือ 0.01%
วันนี้ (28 เม.ย.64) นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เปิดเผยว่าคณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุน สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับอนุมัติให้กู้ยืมเงินและทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป พร้อมกันนี้ยังเห็นชอบมาตรการเพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่
1. ลดอัตราดอกเบี้ยลง เหลือ 0.01% ต่อปีเป็นการเฉพาะกิจ จากปกติอยู่ที่ 1 % ต่อปีของเงินต้นคงเหลือ สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและมิได้เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้หรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 – 31 ธันวาคม 2564
2. ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิด จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ประกอบด้วย
- ลดเบี้ยปรับ 100% กรณีชำระหนี้ปิดบัญชี สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกรายที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี ส่วนผู้กู้ยืมเงินที่ถูกดำเนินคดีต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิและนัดหมายวันที่ประสงค์จะชำระหนี้ปิดบัญชีได้ที่ www.studentloan.or.th โดยผู้กู้ยืมเงินต้องชำระค่าทนายความและค่าฤชาธรรมเนียมศาลให้เสร็จสิ้นก่อนปิดบัญชี
- ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ
- ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและมิได้เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้หรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ โดยชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว
- ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
นอกจากนี้ ยังชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดชำระหนี้ประจำปี 2563 และปี 2564 ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปี 2564 อีกทั้งยังงดการขายทอดตลาด ทรัพย์สินของผู้กู้ยืมเงิน หรือผู้ค้ำประกัน ที่กองทุนได้ขอให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์ไว้จนถึงสิ้นปี 2564 โดยกองทุนจะต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้กู้ยืมเงิน หรือผู้ค้ำประกันที่ถูกยึดทรัพย์ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม ผู้รับจำนองที่ยึดไว้