"เซิร์ฟสเก็ต" Surf Skate กีฬายอดฮิต ข้อควรระวังอันตรายที่ควรรู้ก่อนเริ่มเล่น
เซิร์ฟสเก็ต (Surf Skate) กีฬาและกิจกรรมสุดฮิตยุคใหม่ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ให้ความรู้คำแนะนำในการเล่น รวมทั้งข้อควรระวังอันตรายที่เกิดขึ้นได้จากการเล่น “เซิร์ฟสเก็ต”
เซิร์ฟสเก็ต (Surf Skate) กีฬาและกิจกรรมสุดฮิตในปัจจุบัน ที่โดนใจหลายๆ คน ได้ทั้งออกกำลังกาย ได้ทั้งความสนุกและความเท่ไปพร้อมๆ กัน แต่ควรมีวิธีการเล่นที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยของตัวเราและคนอื่น หากเล่นสนุกมากเกินไปแต่ไม่เตรียมความพร้อมร่างกายและอุปกรณ์ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บถึงกับต้องมาโรงพยาบาลได้
เซิร์ฟสเก็ต (Surf Skate) คืออะไร?
นพ.ภคภณ อิสรไกรศีล ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์เฉพาะทางด้านผ่าตัดผ่านกล้องข้อเข่าและข้อไหล่ แพทย์เวชศาสตร์การกีฬา สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (BASEM) รพ.กรุงเทพ หรือ FIFA MEDICAL CENTRE OF EXCELLENCE ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ กล่าวว่า เซิร์ฟสเก็ต (Surf Skate) เป็นกีฬาบนแผ่นกระดานที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างสเก็ตบอร์ดกับกีฬาเซิร์ฟ เคลื่อนที่โดยใช้การบิดตัว ใช้แขนและสะโพกเหวี่ยงในการเดินหน้า และเปลี่ยนทิศทาง
อันตรายที่เกิดขึ้นได้จากการเล่น “เซิร์ฟสเก็ต”
กีฬาชนิดนี้สามารถเกิดการบาดเจ็บได้สองแบบหลักๆ คือ
- อันตรายจากการเล่น เนื่องจากการเล่นเซิร์ฟสเก็ตต้องใช้การทรงตัว การบิดตัว และเหวี่ยงสะโพกในการเล่นอยู่ตลอดเวลา สำหรับผู้เล่นมือใหม่ อาจเกิดการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อและข้อต่างๆ ได้ รวมถึง อาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดเมื่อยต้นขา รวมทั้งข้อเข่า และข้อเท้า
- อันตรายจากอุบัติเหตุ ซึ่งมักเกิดจากการเสียการทรงตัว ล้ม กระแทก สามารถก่อให้เกิดอันตรายได้ตั้งแต่ อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ แผลถลอก หรือรุนแรงถึงขั้นเอ็นฉีกขาด กระดูกหัก อาจรุนแรงจนถึงขั้นผ่าตัดได้เลยทีเดียว หรืออาจล้มหัวกระแทกสมองกระทบกระเทือนได้เช่นกัน
สาเหตุการบาดเจ็บในการเล่นเซิร์ฟสเก็ต
- มือใหม่ ยังขาดความคุ้นเคยและความเข้าใจในการเล่น ทำให้การทรงตัว การบังคับแผ่นกระดานสเก็ตไม่ราบรื่น
- บางคนร่างกายขาดความพร้อม ขาดความยืดหยุ่น ความแข็งแรงและความคล่องตัว
- สถานที่เล่นไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่ขรุขระ มีทราย น้ำขัง ทางลาดชันมาก หรือมีผู้คนพลุกพล่าน โดยเฉพาะหากเลือกเล่นบริเวณใกล้ถนน มีรถวิ่งไปมา อาจจะทำให้เกิดอันตรายรุนแรงถึงชีวิตทั้งแก่ผู้เล่นและผู้สัญจร
- อุปกรณ์ไม่พร้อม ไม่เหมาะสม เนื่องด้วยชนิดของแผ่นกระดาน ฐานล้อและล้อ มีหลากหลายรูปแบบ หากคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ก็อาจจะทำให้การเล่นติดขัดเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ หรือไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันที่จะช่วยลด ความรุนแรงของการบาดเจ็บ เช่น หมวกกันกระแทก สนับศอก สนับข้อมือ สนับเข่า เป็นต้น
- มั่นใจในตัวเองมากไป เมื่อผู้เล่นมีความเชี่ยวชาญขึ้นในระดับหนึ่ง ก็มักต้องการเล่นท่าทางที่ผาดโผนมากขึ้น หรืออยากจะลองเล่นในพื้นที่ลาดเอียงที่ท้าทายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการบาดเจ็บได้
อาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างเล่นเซิร์ฟสเก็ต
อาการบาดเจ็บรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้จากกีฬาชนิดนี้ ได้แก่
- บาดเจ็บศีรษะ เช่น ศีรษะแตก กะโหลกร้าว สมองกระทบกระเทือน หรือมีเลือดออกในสมอง
- กระดูกหัก เช่น ข้อมือหัก ข้อศอกหัก กระดูกหัวไหล่หัก ไหปลาร้าหัก ข้อสะโพกหัก ลูกสะบ้าแตก และข้อเท้าหัก
- ข้อเคลื่อนหลุด เช่น ข้อไหล่หลุด ข้อศอกหลุด ลูกสะบ้าเคลื่อนหลุดบริเวณเข่า
- เอ็นฉีกขาด เช่น เอ็นหัวไหล่ เอ็นข้อศอก เอ็นเข่าหรือเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด เป็นต้น
วิธีปฐมพยาบาล เมื่อบาดเจ็บจากการเล่นเซิร์ฟสเก็ต
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับบาดเจ็บจากกีฬาเซิร์ฟสเก็ต สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยใช้หลัก P.R.I.C.E. คือ
- Protect คือการป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บมากขึ้น การใช้ที่คล้องแขน การดามบริเวณที่บาดเจ็บ หรือการใช้ไม้ค้ำยันช่วยเดิน
- Rest คือการพักการเล่น และการใช้งาน เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟู ซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บ
- Ice คือการประคบเย็น สามารถประคบเย็นบริเวณที่ปวดบวม หรือฟกช้ำ ครั้งละ 15-20 นาที ทำได้บ่อยตามต้องการ
- Compression คือการใช้ผ้ายืดพันรอบบริเวณที่บาดเจ็บ เพื่อลดการบวม และลดการเคลื่อนไหว
- Elevation คือการยกสูง ทำโดยยกบริเวณที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดอาการบวม
อาการบาดเจ็บจากเซิร์ฟสเก็ต ที่ควรต้องมาพบแพทย์
- ศีรษะกระแทก มีอาการมึนงง จำเหตุการณ์ไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน
- มีอาการปวด บวม ผิดรูปของกระดูกและข้อ อาจมีภาวะข้อเคลื่อนหลุด หรือกระดูกหัก
- มีอาการปวดต่อเนื่องระหว่างการเล่น หลังการเล่น พักแล้วอาการไม่ดีขึ้น
- เกิดอาการข้อไม่มั่นคง หลวม หรือเปลี่ยนทิศทางเดินแล้วเข่าทรุด อาจเป็นอาการของภาวะเอ็นฉีกขาด เช่น เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดได้
คำแนะนำในการเตรียมพร้อมเล่นเซิร์ฟสเก็ต
- เลือกอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ และอยู่ในสภาพที่ดี ใช้งานได้ตามปกติ
- สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หมวกกันน็อค สนับข้อมือ สนับศอก และสนับเข่า ช่วยลดความรุนแรงการบาดเจ็บได้
- ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ไม่แนะนำให้เล่น และเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ควรมีผู้ดูแลควบคุมที่มีประสบการณ์
- ในผู้สูงอายุ ควรต้องระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากอาจมีภาวะกระดูกบาง หรือกระดูกพรุนร่วมด้วย หากเกิดอุบัติเหตุล้ม จะมีความรุนแรงเกิดกระดูกหักได้ โดยเฉพาะข้อมือ ข้อสะโพก และกระดูกสันหลัง
- เลือกสถานที่ให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อการเล่น เช่น Skate Park หลีกเลี่ยงการเล่นบริเวณใกล้ถนน
- เตรียมร่างกายก่อนเล่นด้วยการวอร์มอัพ ยืดเหยียด เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความพร้อมของข้อต่อและกล้ามเนื้อ
- บริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่ใช้งานหลักๆ ในการเล่นเซิร์ฟสเก็ต เช่น กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว กล้ามเนื้อสะโพก กล้ามเนื้อต้นขาและน่อง อาจใช้การบริหารในท่า Plank หรือ Squat
- ควรศึกษาและฝึกซ้อมเทคนิคการเล่นในระดับพื้นฐานก่อน เรียนรู้การทรงตัว การเคลื่อนที่ และฝึกการล้มอย่างถูกวิธีเพื่อประเมินตนเอง
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากหากเล่นเซิร์ฟสเก็ต เป็นเวลานานกลางแดดร้อน อาจจะเกิดภาวะขาดน้ำและเกิดอันตรายจากความร้อนได้
กีฬาเซิร์ฟสเก็ต แม้จะดูมีความอันตรายอยู่พอสมควร แต่หากผู้เล่นเตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดี ไม่เล่นเสี่ยงจนเกินสมรรถภาพร่างกาย ก็นับเป็นกีฬาที่มอบความสนุกและเสริมสร้างสุขภาพร่างกายได้เป็นอย่างดีในทุกเพศทุกวัย
ขอบคุณข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข