TNN สทศ. จัดสอบโอเน็ตไม่คุ้มค่า พรรคกล้า ยื่น สตง.ตรวจสอบใช้งบ 700 ล้าน

TNN

สังคม

สทศ. จัดสอบโอเน็ตไม่คุ้มค่า พรรคกล้า ยื่น สตง.ตรวจสอบใช้งบ 700 ล้าน

สทศ. จัดสอบโอเน็ตไม่คุ้มค่า พรรคกล้า ยื่น สตง.ตรวจสอบใช้งบ 700 ล้าน

เลขาธิการพรรคกล้า ยื่น สตง. ตรวจสอบสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ที่จัดสอบ O-Net ป.6 - ม.3 ไปเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา โดยมองว่าไม่คุ้มค่า และไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

วันนี้ (20 มี.ค.64) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า พร้อมด้วยนายแสนยากร สิงห์วีรธรรม รองโฆษกพรรคฯ และนายณัฐนันท์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายพรรคกล้า ยื่นหนังสือถึงนายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขอให้ตรวจสอบสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ที่ใช้งบประมาณจัดสอบ O-Net ระดับชั้น ป.6 และ ม.3 ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการประเมินผลการจัดการศึกษาของ สทศ. รวมถึงไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพ ตามกฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินกำหนด

นายอรรถวิชช์ ระบุว่า การจัดสอบ O-Net ปีนี้ ไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะเด็กเลือกสอบโดยสมัครใจ บางคนสอบ บางคนไม่สอบ ไม่มีค่าเฉลี่ยวัดผลการจัดการศึกษาได้แท้จริง ผลสอบเอาไปใช้ประกอบสอบเข้าโรงเรียนรัฐชั้น ม.1 และม.4 ปีนี้ ไม่ได้ ไม่เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และยังผลักภาระให้เด็กนักเรียนต้องแบกรับความเครียด สอบมากเกินไป เป็นภาระทั้งเด็กและผู้ปกครองโดยไม่จำเป็น

แทนที่จะยกเลิกการสอบ O-Net ไปก่อน แต่กลับจัดสอบต่อไปโดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่นักเรียนต้องแบกรับ งบประมาณ 700 กว่าล้านบาท ที่ใช้อยู่ทุกๆ ปี นอกจากวัดผลว่าเด็กได้คะแนนมากน้อยแล้ว มีอะไรจะเป็นรูปธรรมในการพัฒนาการศึกษาไทยบ้าง ถึงเวลาที่ต้องรื้อระบบการศึกษาใหม่ ปรับเปลี่ยนการสอนและการวัดผลให้สอดคล้องกับความถนัดหรือความสนใจของผู้เรียน น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า ไม่ใช่ตัดชุดโหลสอบเหมือนกัน แต่การศึกษายังย้ำอยู่กับที่

ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเคยทำหนังสือถึง สทศ.ให้ยกเลิกสอบ O-Net ไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพราะการระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกสอง ซึ่งทำให้การเรียนการสอนแต่ละโรงเรียนมีประสิทธิภาพไม่เท่ากัน

ขณะที่ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก้ไขหลักเกณฑ์ว่า ไม่จำเป็นต้องใช้คะแนนโอเน็ตประกอบการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อ ม.1 และ ม.4  แต่ สทศ. ยังคงจัดสอบ O-Net ระดับ ป.6 และ ม.3 เมื่อวันที่ 13 – 14 มีนาคม 64  ที่ผ่านมา ถือเป็นการผลักภาระให้เด็กนักเรียนต้องแบกรับความเครียด สอบมากเกินไปโดยไม่จำเป็น และสูญเสียงบประมาณ พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นในการจัดสอบ  


ข่าวแนะนำ